ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯม.หอการค้าไทย คาดการณ์จีดีพีไทยปี66จะขยายตัวได้3.6% ส่งออก โต1.2 %โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่กลายเป็นพระเอกแทนส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผย ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2565-2566 ว่า ศูนย์ฯคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.6% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.4% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% การส่งออก ขยายตัว 1.2% การนำเข้า ขยายตัว 2.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.0% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 22 ล้านคน
โดยประมาณการดังกล่าวของปี 2566 อยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ คือ ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 2.5% เศรษฐกิจโลก ขยายตัว 2.7% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 22-24 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยน 35.95 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 92.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25-2.00%
ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี2565-2566 คือ การแพร่ระบาดของโควิด19 ปรับตัวดีขึ้นและปรับเป็นโรคประจำถิ่น การกลับมาขอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน รายได้ของเกษตรกรยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น, ธนาคารกลางหลายประเทศ ถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอย, ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน, ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนทำให้การเข้าถึงสินค้าทุนลดลงส่งผลต่อการค้า
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 66 คาดว่า จะโต 3.5 % จากแรงหนุนการท่องเที่ยว ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูง ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ภาคบริการฟื้นโดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนกลับมาฟื้นตัวทำให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเตรียมตัวเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2 ที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
จากนั้นในช่วง ไตรมาส 3 และ4 คาดว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัวจากราคาน้ำมันที่เริ่มนิ่ง เงินเฟ้อลง และในช่วงครึ่งปีหลังการลงทุนของภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีน่าจะถูกขับเคลื่อนอีกหลายโครงการ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากการลงทุนในอนาคตทำให้มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3.7 % และทั้งปีจะขยายตัว 3.6 %
“ปี 66 การส่งออกที่เคยเป็นพระเอกของไทยจะกลายเป็นเพียงตัวประกอบ เห็นได้จากการชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ปี 65 และต่อเนื่องไปปีหน้า เนื่องจากว่ากำลังซื้อของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงขณะที่การบริโภคที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างโดดเด่น จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา 22-24 ล้านคน สร้างเม็ดเงิน1.1 ล้านล้านบาท “
ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่3.3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากขึ้นและยังมีภาคการส่งออกที่ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญของปีนี้ในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อในปี 66 มีสัญญาณชะลอตัวลงจากปีนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีโอกาสจะแกว่งอยู่ในกรอบ 5.0-5.5% จากปัจจุบันที่ระดับ 4.50% โดยเงินเฟ้อสหรัฐจะอยู่ในระดับ 4% จากปัจจุบันที่ระดับ 7% ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงกลางปี 66 จากนั้นจะตรึงไว้จนถึงปี 67
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามสถานการณ์ของการสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐ และเพื่อลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ โดยคาดว่าให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 66 มีโอกาสจะขึ้นไปอยู่ในระดับ 2.00% ได้ และทำให้ปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงเหลือ 3% จากในปีนี้ที่ระดับ 6.1%