หอการค้าภาคตะวันออกชง 3 เรื่องที่ต้องเร่งผลักดัน "โปรโมตอีอีซี ระเบียงผลไม้ และการท่องเที่ยว ดันศรษฐกิจภาคตะวันออก
หอการค้าไทย ได้ผลักดันยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคตะวันออก ปี 2025 ผ่านสมุดปกขาวของหอการค้าไทย ที่ได้จากการระดมความเห็นจากภาคเอกชนในพื้นที่ โดยมีวิสัยทัศน์ให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และสินค้าอาหารปลอดภัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นประตูสู่เศรษฐกิจโลก และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวมาตรฐานสากล โดยคนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยความสำเร็จใน 4 ปีแรก (2561-2565) คือ
1.การอนุมัติเงินลงทุนเกินเป้าหมาย 1.8 ล้านล้านบาท จากเป้าหมาย 5 ปี วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท
2.การดึงเทคโนโลยีและ New S-curve ไม่ว่าจะเป็นการดึงนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งการร่วมทุน Evlomo ในโครงการผลิตแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน การเตรียมตั้งฐานการผลิตรถ EV ใน จ.ระยอง เตรียมเปิดธีมพาร์คและสวนน้ำ "โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส" แห่งแรกของโลกในอีอีซี
ส่วนแผนการพัฒนาระหว่างปี 2566-2570 มุ่งเน้น 1.ศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก 2.สินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยที่มีมูลค่าสูง 3.มุ่งเป้าในการจัดคาร์บอน และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
สำหรับโครงการเร่งด่วน (Flagship Projects) 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.การเร่งโปรโมต EEC เพราะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็ดำเนินการแล้ว เช่น สนามบิน ท่าเรือ รถไฟ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2568
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือ การดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาใน EEC และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดงาน “EEC Fair” ปี 2024 ให้เป็นงานใหญ่เทียบเท่ากับงาน “BOI Fair” ในอดีต เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมของ EEC ในการรองรับอุตสาหกรรม S-curve ต่อนักธุรกิจต่างชาติ เป็นโครงการของคนไทยทั้งประเทศที่จะได้รับประโยชน์ โดยรัฐบาลต้องลงมาดูเรื่องนี้อย่างเต็มที่
สำหรับงาน “EEC Fair” ปี 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงสินค้าและอุตสาหกรรม S-CURVE ที่มีศักยภาพของผู้ประกอบการและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการจัดแสดงศักยภาพของภาครับและที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม S-CURVE โดยต้องการจัดงาน “EEC Fair” ในจังหวัด EEC เพื่อโปรโมตให้นักลงทุนมาดูพื้นที่จริง เพราะการลงทุนไม่ใช่ดูแค่พื้นที่โรงงานเพียงอย่างเดียว ต้องดูเรื่องของสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยของผู้บริหาร เป็นต้น ซึ่ง EEC มีความพร้อมทั้งการทำธุรกิจและการพักอาศัย ซึ่งจะชักจูงการลงทุนมากขึ้น
รวมทั้งต้องการให้ชาวไทยได้เข้ามาดูว่า EEC คืออะไร เพราะที่ผ่านมา มีการพูดถึงมากแต่คนที่อยู่นอกพื้นที่ หรือคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็จะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตนเอง ประโยชน์ก็ไม่ได้รับจาก EEC แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นโครงการของประเทศไม่ใช่โครงการของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก และต้องการชี้ให้เห็นว่า EEC จะสร้างประโยชน์ให้กับภูมิภาคนี้และประเทศได้อย่างไร
2.โครงการจัดตั้งศูนย์กลางกระจายสินค้าผลไม้ไปต่างประเทศ ผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) โดยพัฒนาระบบมาตรฐานการนำเข้าส่งออก ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาห้องปฏิบัติการ การตรวจเชื้อโรค มาตรการควบคุมโรคติดต่อตามมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งเส้นทางการขนส่งที่มีความพร้อมทั้งด้านทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
“ปัจจุบันส่งผลไม้ออกทางเรือมากกว่า 50% แต่ยังมีปัญหาเรือเข้า มีห้องเย็น มีท่าเรือที่มีเครนยกตู้ ซึ่งได้เสนอรัฐบาลแล้ว เช่น ท่าเรือมาบตาพุดเป็นท่าเรือของเหลวและเทกอง ซึ่งจะทำให้ท่าเรือมาบตาพุดเป็นจุดโลจิสติกส์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง จากเดิมไปที่ จ.ชลบุรี ซึ่งช่วยลดความแออัด ลดระยะเวลา”
สำหรับโครงการด้านการท่องเที่ยวมี 2 โครงการ คือ การทำถนนเลียบชายฝั่งภาคตะวันออก ตั้งแต่ จ.ตราดถึง จ.ชลบุรี ซึ่งโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาสักระยะแล้ว โดยแต่ละจังหวัดดำเนินการในแต่ละพื้นที่ตัวเอง และยกระดับมาตรฐานที่พักโรงแรม โดยได้หารือกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ
3.การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามระเบียงย่อยชายฝั่งทะเลตอนใต้ หรือ Southern Coastal Sub-Corridor สำหรับ 8 จังหวัดบนเส้นทาง R10 ประกอบด้วย ไทย 1 จังหวัด คือ จ.ตราด กัมพูชา 6 จังหวัด คือ เกาะกง สีหนุวิลล์ พระตะบอง โพธิสัตว์ กัมปอต กรุงแกบ เวียดนาม 1 จังหวัด คือ เกียนซาง
ทั้งนี้ มีเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ เส้นทางจาก จ.ตราด-กรุงแกบ-เกียนซาง โดยดำเนินการแล้วบางเส้น คือ เส้นเรียบชายฝั่ง จ.ตราด ถึงกัมพูชา ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคตะวันออกได้ โดยในไทยจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ แต่ในฝั่งกัมพูชามีการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติบางส่วน และมีเมืองกาสิโน คือ สีหนุวิลล์ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวด้วย
ดังนั้น จึงมีโมเดลพัฒนาแบบฮ่องกง-มาเก๊า คือ ฮ่องกงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่พักอาศัย แต่ใครต้องการไปกาสิโน ก็ล่องเรือไปมาเก๊า ซึ่งเราก็วางไว้ว่าจะทำในลักษณะนี้คือเที่ยวใน จ.ตราด แล้วข้ามไปยังสีหนุวิลล์โดยเรือหรือรถ
นอกนั้นก็ยังมีเรื่องของการเทรดคาร์บอนเครดิต ต้องมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร โดยเริ่มจากสวนยางพาราใน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะดำเนินการ
“ภาพรวมการผลักดันภาคตะวันออกก็มีเรื่องใหญ่ 3 เรื่อง คือ โปรโมตอีอีซี การผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก และการพัฒนาการท่องเที่ยว”