นายกรัฐมนตรีมั่นใจมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ 9 มาตรการของบีโอไอเริ่มมีผลบังคับวันนี้ (3ม.ค.) จะเป็นเครื่องมือปรับโครงสร้างประเทศไทยระยะยาวสู่เศรษฐกิจใหม่ควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
วันที่ 3 มกราคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้ดำเนินการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ตั้งแต่วันนี้(3 ม.ค. 66) เป็นต้นไปมาตการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ทั้งหมด 9 มาตรการ จะเริ่มมีผลบังคับและใช้บังคับเป็นเวลา 5 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2566-2570
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความมั่นใจว่ามาตรการบีโอไอชุดใหม่ที่ผ่านการอนุมัติของบอร์ดบีโอไอในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมานี้ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เป็นรากฐานและเครื่องมือสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวให้ไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในการกำหนดมาตรการชุดใหม่บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงเทรนด์หลักของโลกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน อาทิ สงครามการค้าในรูปแบบต่างๆ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความยืนหยุ่นของระบบการผลิต ความสามารถของประเทศที่เป็นฐานการผลิตในการจัดการกับวิกฤต เช่นวิกฤตโรคระบาดโดยไม่ทบภาคธุรกิจ การให้ความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน
“มาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายทุกหน่วยงานให้เตรียมประเทศให้พร้อมรับทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนทันทีหลังสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย โดยตลอดปี 2566 สำนักงานบีโอไอมีแผนงานจะจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศในทุกรูปแบบกิจกรรมและทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออนไซต์รวมกว่า 200 ครั้ง เพื่อเร่งให้ข้อมูลชุดมาตรการใหม่ให้นักลงทุนทุกภูมิภาคทั่วโลกทราบ เพื่อแข่งขันกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีการเสนอให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงนักลงทุนศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศเช่นกัน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ 9 มาตรการ ที่ประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ทั้งที่เป็นภาษีและใม่ใช่ภาษี ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 10 หมวด จากเดิม 7 หมวด ซึ่งมีการเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น กิจการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานประเภทใหม่ ๆ เช่น ไฮไดรเจน กิจการอาหารแห่งอนาคต และกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ
2.มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม 3.มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม 4.มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร 5.มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ 6.มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม 7.มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs 8.มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย โดยเพิ่มพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก และ 9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม