"ศรีสุวรรณ" บุกร้อง สตง. สอบเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อโครตแพง กว่า 33 ล้านบาท ชี้ขัด พ.ร.บ.จัดซื้อ-ฮั้วประมูลหรือไม่
วันนี้ (5 มกราคม 2566) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างบริษัทเอกชนจัดทำและเปลี่ยนป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. ในราคากว่า 33 ล้านบาท ในราคาที่แพงเกินไปหรือไม่
ทั้งนี้ พบข้อพิรุธหลายประการ จากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วย "วิธีเฉพาะเจาะจง" ทำให้ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้ได้ผู้รับจ้างในราคาสูงเกินสมควร อาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 เพราะไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการตามที่ ม.11 กำหนดไว้ และไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นที่จะใช้วิธีเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการขัดหรือแย้งต่อ ม.82 อย่างชัดเจน เพราะไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการที่กฎหมายให้ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีการคัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเสียก่อน
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า แม้ทาง รฟท.จะออกมาแถลงชี้แจงเมื่อวันก่อน ก็ไม่มีเหตุผลหรือน้ำหนักที่เพียงพอที่จะเข้าข่ายข้อยกเว้นเกี่ยวกับการที่ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และหากจะล่าช้าออกไปก็ไม่ทำให้กิจการของ รฟท.เสียหาย หรือล้มละลาย หรือล่มจมแต่อย่างใด และการจัดทำและติดตั้งป้ายไม่มีเหตุผลทางเทคนิคที่ใช้เป็นข้ออ้างเพราะมีกิจการร้านค้า บริษัท หรือผู้ประกอบการมากมายในประเทศไทยที่สามารถจัดทำและติดตั้งป้ายประเภทดังกล่าวได้
นอกจากนั้น คณะกรรมการกำหนดราคากลางทั้ง 6 คน มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำข้อมูลผู้ประกอบการอื่นใดในประเทศนี้มาเทียบราคาหรือไม่ และควรที่จะเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าว หากจะพิสูจน์ว่าการดำเนินงานโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำคัญ ชื่อสถานีดังกล่าวได้รับพระราชทานชื่อใหม่มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 แต่เหตุใดจึงมีการเร่งรีบดำเนินการในเดือน ธันวาคม 2565 แล้วมาใช้วิธีการประมูลแบบ "เฉพาะเจาะจง" ทั้งๆ ที่ รฟท.สามารถเลือกใช้การประมูลโดยให้มีคู่แข่งในการประมูล ยกเว้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะสุดท้ายผู้ที่ได้รับงานดังกล่าวพบว่า เป็นผู้ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 โครงการ มูลค่างานรวม 52,512.028 ล้านบาท ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.4 ประกอบ ม.11 ม.12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูลได้
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องให้ สตง.ตรวจสอบตามประเด็นที่กำหนด หากพบความผิดปกติให้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.221 ด้วย