ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ร้อง กสม.ปี 65 “สิทธิสถานะบุคคล” แชมป์ “ยุติธรรม-ชุมชน” ติดโผ
05 ม.ค. 2566

กสม.เผยสถิติเรื่องร้องเรียน ปี 65 ประเด็น “สิทธิ-สถานะบุคคล” มากสุด “กระบวนการยุติธรรม-สิทธิชุมชน” ติดโผ รับเป็นคำร้องแล้ว 124 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 96 เรื่อง

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2565 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 1,152 เรื่อง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม.มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

  • อันดับที่ 1 สิทธิและสถานะของบุคคล คิดเป็นร้อยละ 36.72 
  • อันดับที่ 2 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 13.72 
  • อันดับที่ 3 สิทธิชุมชน คิดเป็นร้อยละ 5.03 

ส่วนประเด็นสิทธิอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. เช่น สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ การเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิของผู้สูงอายุ และสิทธิทางการศึกษา เป็นต้น

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในปี 2565 จำนวน 124 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 96 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. จำนวน 6 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผล การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 22 คำร้อง โดย กสม. มีนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว ซึ่งการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนช่วยร่นระยะเวลาให้สั้นลง หลายคำร้องใช้ระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการจนแล้วเสร็จ เช่น คำร้องเรื่อง สิทธิและสถานะของบุคคล กรณีการอำนวยความสะดวกติดตาม ประสาน เร่งรัดกระบวนการพิจารณาสัญชาติที่สามารถดำเนินการเเล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน

ส่วนการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2565 มีจำนวน 181 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิที่ กสม. มีมติว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 อันดับแรก ได้แก่

1. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน โดยละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้องในการเสนอข่าวต่อสาธารณะ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่คืนทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญา และกรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า

2. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสลายการชุมนุม กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกายขณะจับกุมและควบคุมตัว และกรณีการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) หรือการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดแบบเหมารวมโดยไม่ได้รับความยินยอม

3. สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เช่น กรณีแนวเขตของอุทยานแห่งชาติ ทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎร และกรณีปัญหาการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในชุมชนแออัด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
03 เม.ย. 2568
จากสถาปนิกหนุ่ม ..... สู่สายธารเพื่อสังคมคนเขาใหญ่ ปัจจุบันในพื้นที่เขาใหญ่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และด้วยอาณาบริเวณโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งเทือกเขาที่รายล้อมไปทั่ว และยังรวมถึงธารน้ำที่รื่นร่มอีกหลายแห่ง ที่สำคัญไม่ห่างไก...