ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
ผู้เชี่ยวชาญจีนแนะใช้ 'ยาแพทย์แผนจีน' ช่วยบรรเทาอาการโควิด-19
06 ม.ค. 2566

ปักกิ่ง, 4 ม.ค. (ซินหัว) -- ปัจจุบันจีนได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็น "คุ้มครองสุขภาพ สกัดอาการรุนแรง" โดยยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งอาศัยจุดแข็งอันมีลักษณะเฉพาะของการแพทย์แผนจีน (TCM)

กลไกร่วมป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งคณะรัฐมนตรีจีน ได้จัดงานแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (3 ม.ค.) โดยมีคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารการแพทย์แผนจีนแห่งชาติจีน และทีมผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน ร่วมตอบประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง

หมี่เฟิง โฆษกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน กล่าวว่าจีนส่งเสริมการบูรณาการแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนตะวันตกในการรับมือโรคโควิด-19 เพื่อเพิ่มอัตราการรักษา ลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิต รวมถึงกระตุ้นการหายดีโดยเร็วของผู้ติดเชื้อ

จางจงเต๋อ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เผยว่ายาแพทย์แผนจีนสามารถช่วยบรรเทาอาการที่เด่นชัด เช่น มีไข้สูง ท้องอืด และท้องผูก ในผู้ติดเชื้ออาการหนัก

หลิวชิงเฉวียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนปักกิ่ง สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นครหลวง ระบุว่าปกติผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาด้วยยาแพทย์แผนจีนตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีไข้ลดลงจนอุณหภูมิร่างกายกลับสู่ระดับปกติภายในระยะเวลา 2-3 วัน

หากมีอาการเจ็บคอ ไอ เสียงแหบ และอื่นๆ สามารถรับประทานยาแพทย์แผนจีนตำรับบำรุงทางเดินหายใจ (ซวนเฟ่ยจื่อเขอ) หากมีอาการเจ็บคอหนักมากสามารถรับประทานยาตำรับขับพิษและบรรเทาการเจ็บปวด (ลี่เยี่ยนเจี่ยตู๋จื่อท้ง) หากมีอาการอ่อนเพลีย อาเจียน และท้องเสีย สามารถรับประทานยาตำรับขจัดความชื้นและพิษ (ฮว่าซือเจี่ยเปี่ยวเล่ย)

จางเสริมว่าสำหรับผู้ติดเชื้อวัยสูงอายุ หากมีไข้สามารถรับประทานยาตำรับขับพิษความร้อน (宣肺解毒 ชิงเร่อเจี่ยตู๋) หากมีอาการหนาวสั่นสามารถรับประทานยาตำรับขับพิษความเย็น (祛寒解毒 ชวีหานเจี่ยตู๋) หากมีปัญหาที่ระบบทางเดินอาหารสามารถรับประทานยาตำรับขจัดความชื้นและพิษ (化湿解表 ฮว่าซือเจี่ยเปี่ยว) หากมีอาการหายใจได้ไม่เต็มที่สามารถรับประทานยาตำรับบำรุงทางเดินหายใจ (宣肺止咳 ซวนเฟ่ยจื่อเขอ)

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อแล้วมีอาการไข้สูง ไอหนัก และท้องผูก สามารถรับประทานยาแพทย์แผนจีนตำรับที่ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ส่วนอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และการรับรู้รสและกลิ่นลดลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างร่างกายฟื้นฟูตัวเองหลังจากติดเชื้อ ฉีเหวินเซิง หัวหน้าแผนกฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลกว่างอันเหมิน สถาบันบัณฑิตแพทยศาสตร์แห่งชาติจีน เผยว่าผู้ติดเชื้อสามารถรับประทานยาแพทย์แผนจีนตำรับบำรุงปอด บำรุงม้าม และขจัดความชื้น เป็นต้น

(แฟ้มภาพซินหัว : งานแถลงข่าวของกลไกร่วมป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งคณะรัฐมนตรีจีน)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...