วันนี้ 5 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 15.00 น. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต กาญจนบุรี ได้ประกาศเตือนนักศึกษาลงในเพจ Mahidol University Kanchanaburi Campus โดยระบุข้อความว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เนื่องด้วยขณะนี้มีการพบรอยเท้าลักษณะคล้ายเสือโคร่ง เข้ามาในพื้นที่ป่าบริเวณจุดชมวิวศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อความปลอดภัย ขอให้บุคลากรและนักศึกษา โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางการเข้าใช้พื้นที่ป่าบริเวณรอบมหาวิทยาลัย จนกว่าจะมีการพิสูจน์ทราบชัดเจนจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด” สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานกายภาพและสิ่งแวดล้อม นายธีรศักดิ์ ศรีสันต์ หมายเลขโทรศัพท์ 087-1650388
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีชาวบ้านเป็นหญิง อาศัยอยู่ หมู่ 1 ต.ลุ่มสุ่ม อ. ไทรโยค เเจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า เวลาประมาณ 04.00 น.พบเสือโคร่งเดินอยู่บนถนนลาดยางที่เป็นทางขึ้นเขาด้านหลังมหาลัยมหิดลฯ หลังจากเจ้าหน้าที่ทราบ จึงระดมกำลังกันทุกหน่วยงาน มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่ ตร.สภ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลวังโพธิ์ บูรณาการร่วมกันตรวจสอบ ผลปรากฏพบรอยตีนลักษณะคล้ายเสือ ที่บริเวณป่าเขาด้านหลังมหาลัยมหิดลฯจริง ส่วนทางมหาวิทยาลัยมหิดลฯ กำลังดำเนินการติดตั้งกล้องเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลฯอยู่ระหว่างปิดเทอม โดยจะเปิดเทอมอีกครั้งหนึ่งในวันจันทร์ที่ 9 ม.ค.66 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยว่า เบื้องต้นตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นทราบแล้ว จากนั้นตนพร้อมเจ้าหน้าที่สายตรวจปราบปรามด้านสัตว์ป่าประจำจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าหน้าที่สายตรวจสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายสัตวแพทย์ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) และสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล กาญจนบุรี วิทยาเขตไทรโยค ได้เข้าพื้นที่ป่าเขาท้องที่ หมู่ 9 ต.ลุ่มซุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ป่าหลังมหาวิทยาลัยมหิดลฯเพื่อทำการพิสูจน์รอยตีนสัตว์ป่า ตามที่ได้รับแจ้งจาก นางประนอม เสงี่ยมไพศาล ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ลุ่มซุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
โดยนางประนอม เสงี่ยมไพศาล แจ้งว่า วันที่ 6 ม.ค. 2566 เวลา 04.00 น. พบเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว วิ่งตัดหน้ารถยนต์ของตน และมุ่งเข้าพื้นที่ป่าหลังมหาวิทยาลัยมหิดลฯ โดยพบเห็นลวดลายเสือโคร่งบริเวณใบหน้าอย่างชัดเจน
จากการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ร่องรอยปรากฎว่าพบรอยเท้าสัตว์ป่าชนิดเสือโคร่งที่บริเวณพิกัด 47P 0516519E 1560633N โดยรอยเท้าเสือโคร่งมีขนาดความกว้าง 10 ซม. ความยาว 13 ซม. ระยะห่างระหว่างการก้าวเดิน 120 ซม. ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านเฝ้าระวัง และหากใครพบเห็นเสือโคร่ง ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน”นายไพฑูรย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนกรณีที่มีชาวบ้านพบเสือโคร่งตัวขนาดใหญ่เดินอยู่ที่บริเวณทางเข้าไร่ของชาวบ้านในพื้นที่ บ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายวสันต์ สุนจิรัตน์ หรือกำนันตึ๋ง กำนันตำบลช่องสะเดา พร้อมด้วยนายประจวบ วัยยิ่งยุทธุ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ต.ช่องสะเดา และตัวแทนองค์กรสัตววิทยาแห่งลอนดอน Zoological Society of London (ZSL) ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่เมื่อไปถึงพบเพียงรอยตีนเสือโคร่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเป็นรอยตีนเสือที่มีตัวขนาดใหญ่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ 6 ม.ค.66 นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา พร้อมด้วยนายประจวบ วัยยิ่งยุทธุ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ากะทิ หมู่ 6 นางละออ ภู่ประดิษฐ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าทุ่งนา หมู่ 1 ต.ช่องสะเดา และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจความเรียบร้อยในการติดตั้งกล้อง Camera trap สำหรับดักถ่ายเสือโคร่งที่ติดเอาไว้โดยรอบ จำนวน 8 ตัว หากเสือยังวนเวียนอยู่ในพื้นที่ตามเดิมคาดว่าไม่เกิน 2 วัน กล้องจะสามารถจับภาพได้อย่างแน่นอน
โดยนายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่าวันนี้ตนและคณะได้ไปพบนายบุญเกิด เอี่ยมเจริญ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 115 หมู่ 6 บ้านท่ากะทิ เพื่อสอบถามข้อมูล เนื่องจากนายบุญเกิด เป็นผู้พบเห็นเสือโคร่งครั้งแรกก่อนที่จะมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ โดยช่วงเย็นของวันที่ 4 ม.ค.ขณะที่นายบุญเกิดฯเดินทางไปดูไร่มันสำปะหลัง ได้พบเสือตัวขนาดใหญ่ เดินอยู่ริมไร่ของตนเอง
ทีมฝ่ายปกครองตำบลช่องสะเดาร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุจังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าเป็นรอยของเท้าเสือจริง เชื่อว่าเสือตัวนี้น่าจะอายุ 7-8 ปี จึงได้ทำการตรวจลักษณะของสัตว์
เบื้องต้นได้นำปูนขาวไปสตาฟรอยเท้าเอาไว้ และทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) จำนวน 8 ตัว เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง และดูลักษณะของเสือ ว่ามาจากป่าแถบไหน และได้เตือนพี่น้องประชาชน ให้เฝ้าระวังเสือ ถ้าใครพบเจอให้แจ้งผู้นำชุมชนทันที ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน