ผอ.กกต.กทม.แย้มแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว แค่รอ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ เผยวิธีคำนวณ เอาจำนวนประชากรล่าสุดหาร 400 ได้สัดส่วนแต่ละจังหวัด ยันดำเนินการตาม ม.86 ตาม รธน.ที่แก้ไข
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งในของ กทม. ว่า การเตรียมการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ใช่แค่ กทม. แต่ทุก ๆ จังหวัด ได้มีการเตรียมความพร้อมมาแล้วหลายเดือน โดยในส่วนของ กทม. เตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไว้พร้อมครบหมดแล้ว ตั้งแต่ ก.พ. 2565 ทั้งเรื่องแนวเขตต่าง ๆ ข้อกฎหมายและระเบียบข้อกำหนด รวมทั้งจำนวนราษฎรที่เราเตรียมการไว้ โดยอาศัยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีการเตรียมการไว้หลายรูปแบบ เพื่อให้ กกต.ได้ใช้ดุลยพินิจเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด
นายสำราญ กล่าวอีกว่า แต่ในปีนี้เมื่อจำนวนราษฎรที่ประกาศใหม่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2565 เราจะใช้จำนวนราษฎรที่ประกาศใหม่รายแขวง รายตำบล มาใส่ลงไปใหม่ว่าเขตเลือกตั้งที่เราได้ทำออกหลาย ๆ แบบนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เท่าที่ดูเบื้องต้นขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ และได้เร่งแบ่งเขตกันอย่างจริงจังแล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เพราะต้องรอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศใช้บังคับเสียก่อน ดังนั้นในเมื่อขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เราได้แต่เตรียมการไว้ก่อน แต่เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ และมีระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อนั้นการแบ่งเขตก็จะปรากฏออกมา ไม่ช้าไม่นาน และเมื่อเราได้รูปแบบการแบ่งเขตชัดเจนแล้วไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ ขั้นตอนต่อไปก็คือ ประกาศรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประชาชนในเขตนั้น ๆ ในเวลา 10 วัน
นายสำราญ กล่าวอีกว่า หลังจาก 10 วันจะประมวลความคิดเห็นต่าง ๆ ในเวลา 3 วัน รวมทุกจังหวัดเพื่อติดประกาศ หลังจากนั้นจะประมวลทุกความเห็น และเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดเสนอต่อสำนักงาน กกต.กลาง ในวันถัดไปทันที ถัดจากนั้นเป็นกระบวนการสำนักงาน กกต.กลาง ว่ามีกระบวนการนำเสนอที่ประชุม กกต.อย่างไร
เมื่อถามว่ามีกรอบระยะเวลาคร่าว ๆ หรือไม่หากสภาครบวาระ 24 มี.ค. 2566 จะต้องเสนอให้ กกต.พิจารณาเขตเลือกตั้งประมาณช่วงไหน นายสำราญ กล่าวว่า เขตเลือกตั้งเรียนว่าไม่เกี่ยวว่าสภาจะครบหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับเมื่อไหร่ ระเบียบการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกตามมาในทันที
เมื่อถามอีกว่า ระเบียบการแบ่งเขตเสร็จแล้วหรือไม่ นายสำราญ กล่าวว่า ทราบในเบื้องต้น ได้ยกร่างตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไว้ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว แต่ต้องรอกฎหมายหลักออกก่อน จึงมีระเบียบออกมา โดยในส่วนของ กทม.จะดำเนินการเสนอ 3 รูปแบบ แต่จริง ๆ ทำได้มากกว่านั้น ขออุบไว้ก่อน ส่วนโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น เท่าที่คำนวณเอง ไม่แตกต่างกับการเลือกตั้งปี 2562 มาก โดยตอนนี้อยู่ 33 เขตเลือกตั้ง ฝั่งพระนครมี 35 เขตปกครอง จะมี 23 เขตเลือกตั้ง ส่วนฝั่งธนบุรีมี 15 เขตปกครอง มี 10 เขตเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า คราวที่แล้วเลือกตั้งปี 2562 กทม.มี 30 เขต แต่ปี 2566 มี 33 เขต จำนวน 3 เขตที่เพิ่มขึ้นมา ต้องมีการเกลี่ยอย่างไร นายสำราญ กล่าวว่า เกลี่ยตามจำนวน ส.ส. สาเหตุที่เขตเพิ่มขึ้น เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มจาก 350 เขตเป็น 400 เขต เมื่อคำนวณแล้ว ทำให้เขตเลือกตั้ง กทม. และหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น วิธีการที่ชัดเจนคือ การแบ่งเขตว่าจังหวัดใดมีกี่เขตนั้น เราผู้ปฏิบัติหรือ กกต. ไม่ได้คิดเอง ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข คือ 1.คำนวณราษฎรที่ประกาศล่าสุดตั้งแล้วหารด้วย 400 ได้เท่าไหร่คือค่ากลางต่อ 1 เขตเลือกตั้งทั้งประเทศ 2.เอาค่ากลางมาหารจำนวนราษฎรแต่ละจังหวัด ผลลัพธ์ออกมาก็เป็นจำนวน ส.ส. เขตแต่ละจังหวัด
ส่วนกรณีพรรคการเมืองเริ่มมีการติดป้ายหาเสียงนั้น นายสำราญ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วง 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎร ครบวาระ กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ การปฏิบัติก็จะเป็นลักษณะเดียวกับที่ผู้สมัคร พรรคการเมืองเคยปฏิบัติในการเลือกตั้งปี 62 จนถึงขณะนี้ กกต.กทม. ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการกระทำในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ กกต.กทม.ได้มีการประชาสัมพันธ์ มาตั้งแต่เนิ่น ๆ มาจนปัจจุบันว่าอะไรควรทำ หรือควรแก้ไข อีกทั้งกฎหมายก็เปิดโอกาสให้ กกต.สามารถแจ้งเตือนให้ผู้สมัครแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ดำเนินการ กกต.ก็ดำเนินการเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากผู้สมัคร