ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวเอกชน3ราย' ไทยคม เอ็นที ชิงดำดาวเทียม 15 ม.ค. นี้!
12 ม.ค. 2566

กสทช. ประกาศรายชื่อเอกชนผ่านคุณสมบัติเข้าประมูลดาวเทียมแล้วทั้ง 3 ราย มั่นใจวันที่ 15 ม.ค.นี้ เคาะราคาทำเงินเข้ารัฐได้อย่างต่ำ 800 ล้านบาท ยันเดินหน้าเต็มที่เพราะหากไม่ทำจะถูก"ไอทียู" ริบวงโคจร

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบอร์ดกสทช.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประสงค์ประมูลวงโคจรดาวเทียมประจำที่ ทั้ง 3 บริษัทตามที่ได้ยื่นเอกสารแสดงความจำนงต้องการเข้าประมูลต่อกสทช.

โดยผลปรากฎว่าทั้ง 3 บริษัทผ่านคุณสมบัติทั้งหมด ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทลูกไทยคม) , บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ตามเกณฑ์การตรวจสอบคืิอตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และ ความสามารถด้านการเงิน

สำหรับการประมูลครั้งนี้ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตาม ระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด โดยการประมูลจะเกิดขึ้นวันที่ 15 ม.ค. 2566 คาดว่าแพ็คเกจที่น่าสนใจคือ ชุดที่ 2,3 และ 4 คาดนำเงินเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และให้ เอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” นั้น

กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้ วงโคจรดาวเทียม 

รวมทั้ง ตามนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงได้ใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด 

“หากยกเลิกการประมูลและให้ เอ็นที เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ได้”

ดาวเทียมที่ประมูลประกอบไปด้วย 5 ชุด ได้แก่

ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาทเศษ 

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาทเศษ โคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือ 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...