ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ชิงดำงานอุโมงค์ประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง1.46หมื่นล.
15 ม.ค. 2566

การทางพิเศษฯ เปิดขายซองข้อเสนอชิงสัมปทาน 35 ปี บริหารทางด่วนสายแรกจังหวัดภูเก็ต ช่วงกะทู้ - ป่าตอง มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เจาะลึกเอกสาร RFP พบเงื่อนไขชิงดำ กำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคต้องมีประสบการณ์งานอุโมงค์

 

โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นโครงการทางพิเศษสายแรกของ กทพ.ที่มีการลงทุนนอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลการศึกษาของโครงการนี้จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร

มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ มุ่งไปทางทิศตะวันออก เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นอุโมงค์ระยะทาง 1.85 กม. ลอดใต้เทือกเขานาคเกิด หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 (ถนนพระบารมี)

โดยรูปแบบจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) โดยบริเวณจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ จะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ พร้อมติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางบริเวณด้านกะทู้ จำนวน 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทางทั้ง 2 ทิศทาง

สำหรับความพิเศษของโครงการนี้ ยังถือเป็นทางพิเศษอุโมงค์สายแรกของประเทศไทย และเป็นทางพิเศษสายแรกของที่เปิดให้รถจักรยานยนต์วิ่งได้ รวมทั้งการออกแบบมาให้ใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ จากความพิเศษของโครงการที่กล่าวมานั่น ส่งผลให้ กทพ.ต้องออกข้อกำหนดเงื่อนไขในการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการนี้อย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของงานก่อสร้างที่จำเป็นต้องมีความปลอดภัยสูงจากการขุดเจาะอุโมงค์

สำหรับข้อกำหนดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์และผลงาน กทพ.กำหนดไว้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องนำเสนอเอกสารและหลักฐานเพื่อแสดงคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์และผลงาน ดังต่อไปนี้

(1)  ประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา

ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาโดยมีผลงานแล้วเสร็จที่เป็นคู่สัญญา โดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย โดยผลงานแต่ละประเภทต้องเป็นผลงานในสัญญาเดียว หรือเป็นผลงานรวมกันทั้งสองประเภทในสัญญาเดียวซึ่งมีลักษณะของผลงาน ตังต่อไปนี้

ก. ก่อสร้างทางยกระดับ (Elevated Structure) ที่เป็นถนน หรือทางรถไฟฟ้า หรือทางรถไฟที่มีมูลค่างานไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท (ห้าร้อยล้านบาทถ้วน) และ

ข. ออกแบบและก่อสร้างงานอุโมงค์ (Tunnel) สำหรับถนน หรือทางรถฟฟ้า หรือทางรถไฟ  หรืองานสาธารณูปโภคอื่น ที่ก่อสร้างด้วยวิธีที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เช่น New Austrian Tunneling Method (NATM) หรือ Tunneling Boring Machine (TBM) เป็นต้น ที่มีมูลค่างานไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน)

ในกรณีที่ขาดประสบการณ์และผลงานในข้อนี้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำประสบการณ์และผลงานของผู้รับจ้าง (Contractor) มาแสดงเพื่อประกอบการยื่นข้อเสนอได้ โดยผู้รับจ้างดังกล่าวต้องสละสิทธิ์ไม่เข้าร่วมและไม่อยู่ในบัญชีผู้รับจ้าง (Contractor List) ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ๆ

ในการคำนวณมูลค่างานสำหรับประสบกรณ์แต่ละประเภทที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของอัตราขายถั่วเฉลี่ยที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่โครงการแล้วเสร็จ

(2) ต้องเสนอบัญชีผู้รับจ้างหรือผู้ผลิต (Contractor/Supplier List) งานระบบของทางพิเศษอย่างน้อย 1 รายต่อระบบ ซึ่งประกอบด้วย

ก. ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง (Toll Collection System) รวมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารข้อมูล และ

ข. ระบบบริหารจัดการและควบคุมการจราจร (Traffic Management and Control System) รวมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารข้อมูล

(3) ประสบการณ์ด้านการดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์การดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation and maintenance) ทางพิเศษ ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 5 ปี ภายในระยะเวลา 25 ปีนับถึงวันยื่นข้อเสนอ

ขณะที่การก่อสร้างด้วยวิธีที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ซึ่งพบว่ามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายสำหรับโครงการก่อสร้างในไทย ประกอบด้วย เทคโนโลยี New Austrian Tunneling Method (NATM) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขุดอุโมงค์แบบใหม่ของออสเตรีย หรือที่เรียกว่าวิธีการขุดแบบต่อเนื่อง เป็นวิธีการออกแบบ และก่อสร้างอุโมงค์ที่ทันสมัย โดยใช้การตรวจสอบที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเทคนิคการเสริมแรงของผนัง โดยเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้แล้ว อาทิ

- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า – แก่งคอย การขุดเจาะอุโมงค์รถไฟทางคู่ลอดเขาพระพุทธฉาย ดำเนินการโดย บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด

- โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ การขุดเจาะอุโมงค์รถไฟทางคู่สายยาวที่สุดในประเทศ ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร บริเวณบ้านหินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยทางกิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ เทคโนโลยี Tunneling Boring Machine (TBM) หัวเจาะอุโมงค์เป็นเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ใช้เทคนิคพิเศษในการขุดเจาะเพื่อไม่ต้องเปิดผิวถนน มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะ โดยจะทำการขุดเจาะด้วยระบบ Earth Pressure Balance ซึ่งเป็นระบบที่คงแรงดันดินขณะขุดเจาะไว้เพื่อป้องกันความเสียหายจากการทรุดตัวของอาคารรอบข้างได้เป็นอย่างดี โดยเทคโนโลยีนี้ที่ผ่านมาถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงการ อาทิ

- โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที ระหว่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

- โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง - บางแค) ได้ทำการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยเทคโนโลยี TBM ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันตก) ช่วงสถานีท่าพระมาถึงสถานีสนามไชย ดำเนินการโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...