ครม.อนุมัติ 686 ลบ. เดินหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายดูแลสุขภาพจิต ผลิตแพทย์และบุคลากรจิตเวชเพิ่ม 2,950 คน ยกระดับคุณภาพการรักษาใกล้บ้าน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต กรอบวงเงิน 686.07 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตรวม 5,946 คน (คิดเป็น 8.99 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก) และแต่ละปีจะผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตได้ 488 คนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน
โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพจิตให้ประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล โครงการนี้มีเป้าหมาย คือ เพิ่มกำลังคนด้านสุขภาพจิต จำนวน 2,950 คน แบ่งเป็น 1.ด้านจิตแพทย์ทั่วไป 150 คน 2.ด้านพยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช 1,500 คน 3.ด้านพยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช 100 คน 4.ด้านนักจิตวิทยาคลินิก 400 คน 5.ด้านนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช 400 คน 6.ด้านนักกิจกรรมบำบัดจิตเวช 250 คน 7.ด้านเภสัชกรจิตเวช 150 คน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ส่วนวิธีการดำเนินโครงการ อาทิ 1.ประสานความร่วมมือกับสภาวิชาชีพ สถาบันฝึกอบรมของทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อจัดทำแผนร่วมกัน โดยพัฒนาบุคลากรเดิมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น 2.พัฒนาศักยภาพสถานบริการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มหน่วยผลิตบุคลากรจิตเวชจากต้นทุนที่มีอยู่ และ 3.ติดตามประเมินผลการพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาและระบบบริการจิตเวชและยาเสพติด
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ 1.สามารถเพิ่มการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตของไทยได้ปีละ 590 คน รวม 2,950 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี 2.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ มีสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตเพียงพอต่อการจัดบริการให้ประชาชนในทุกอำเภอ 3.ประชาชนที่มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ก่อความรุนแรง ได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพใกล้บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ก่อความรุนแรงในชุมชน และ 4.ผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการจิตเวชอย่างต่อเนื่อง