ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กาฬสินธุ์ ต้นตำรับชุดผู้ไทยขายดีออเดอร์พุ่งส่งจำหน่ายทั่วประเทศ
27 ม.ค. 2566

      ผู้ประกอบการร้านตัดเย็บเสื้อผู้ไทยต้นตำรับดั่งเดิมในจังหวัดกาฬสินธุ์ ระดมแรงงานเร่งมือแปรรูปผืนผ้าไทย  โดยเฉพาะผ้าไหมแพรวาเป็นเสื้อผู้ไทย และประดับลายบนตัวเสื้อด้วยการปักมือ หลังมีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อนำส่งลูกค้าทั่วประเทศ โดยหลายจังหวัดมีการจัดงานเทศกาลประจำปี หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19

วันที่ 26 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการ  เกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปผ้าไทยประเภทต่างๆ  พบว่าที่ห้องเสื้อจิตรา บ้านใหม่ชัยมงคล ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นต้นตำรับการตัดเย็บเสื้อผู้ไทยใน จ.กาฬสินธุ์ บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก แรงงานซึ่งเป็นช่างฝีมือดีจำนวน 15 คน กำลังเร่งตัดเย็บและปักมือ เพื่อให้เสร็จทันต่อความต้องการของลูกค้า รวมทั้งยังมีในส่วนของการเพิ่มปริมาณการผลิต หลังมีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ถือเป็นหน้าเทศกาล การจัดงานประจำปีของหลายภาคส่วน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ หลังเปิดประเทศและผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด-19

      นางจิตรา เวียนเตียง อายุ 53 ปี เจ้าของห้องเสื้อจิตรา อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นฐานเดิมตนเป็นชาว ต.โพน อ.คำม่วง เคยไปศึกษาวิชาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าจากสถาบันชั้นนำระดับประเทศ ก่อนนำประสบการณ์มาเปิดห้องเสื้อจิตราที่บ้านเกิดในปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่ผ้าไหมแพรวาบ้านโพนกำลังบูมเต็มที่ ประกอบกับกระแสความนิยมด้านการนำผ้าไทยมาประยุกต์โดยตัดเย็บเป็นเสื้อผู้ไทย จึงมีลูกค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดเข้ามาอุดหนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งห้องเสื้อจิตราที่เคยตัดเย็บเสื้อ และกางเกง สำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั่วไป ก็กลายมาเป็นร้านตัดเสื้อผู้ไทย และกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของห้องเสื้อจิตรา ที่มีลูกค้ามาสั่งให้ตัดเย็บเสื้อผู้ไทยอย่างต่อเนื่อง และขยายกลุ่มเป้าหมายทุกเพศ ทุกวัยกว้างขวางมากขึ้น

       นางจิตรา กล่าวอีกว่า จากความนิยมเสื้อผู้ไทยดังกล่าว และจากการณรงค์สวมใส่ผ้าไทยตามนโยบายของ ผวจ.กาฬสินธุ์ ส่งผลให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ หันมานิยมสวมใส่ชุดพื้นเมืองและชุดผู้ไทยมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตหรือตัดเย็บเสื้อผู้ไทยเสร็จทันต่อความต้องการของลูกค้าและตลาด จึงได้เปิดรับสตรี แม่บ้าน ที่มีความสนใจ มีฝีมือในการตัดเย็บมาเข้ารับการอบรม และฝึกฝนประสบการณ์ ทำให้ในปัจจุบันนี้ห้องเสื้อจิตรามีช่างฝีมือดี  และมีความชำนาญด้านการตัดเย็บรวมทั้งปักมือ อยู่ประจำในห้องเสื้อจิตราถึง 15 คน  ทำเกิดอาชีพหลัก สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

       “จากความนิยมใส่เสื้อผู้ไทยคำม่วงดังกล่าว ทำให้มีออเดอร์ทั้งใกล้และไกล เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยห้องเสื้อจิตรารับงานทั้งตัดเย็บส่วนตัวและตัดเย็บเพื่อส่งออก ซึ่งจะมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางติดต่อมา เพื่อนำไปจำหน่ายต่อตามงานประจำปีหรืองานเทศกาลต่างๆทั่วประเทศ ทั้งนี้ ทางเราจำหน่ายราคาในที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบลูกค้า คิดราคารวมทั้งค่าผืนผ้า ค่าตัดเย็บและปักมือ เริ่มต้นที่ราคาตัวละ 1,300-4,900 บาทเท่านั้น  จากการสอบถามลูกค้าบอกว่าเป็นราคาที่ไม่แพงเลย แต่ได้สวมใส่เสื้อผู้ไทยที่ตัดเข้ารูปทรงประณีต ลงตัว โดยคนสวมใส่รู้สึกสบายตัว และสวยสง่า มั่นใจ ขณะที่คนพบเห็นก็ออกปากชมว่าสวยงามมาก และอยากมีไว้สวมใส่บ้าง” นางจิตรากล่าว

        สมบูรณ์ นาสาทร ข่าวกาฬสินธุ์รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...