กลุ่มสตรีชาติพันธุ์ผู้ไทกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมอนุรักษ์ตัดเย็บเสื้อผู้ไทผ้าฝ้าย และปักเย็บลายประดับบนผืนเสื้อด้วยมือ หรืองานแฮนด์เมด ตามแบบผู้ไทโบราณ หรือ "เสื้อมอบ" พร้อมโชว์สุดยอดเสื้อมรดกภูมิปัญญาผู้ไท สวมใส่ได้ 2 ด้าน ด้านหน้าและหลัง ส่งขายรายได้ดี โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวปีนี้ มีออเดอร์เสื้อผู้ไทผ้าฝ้ายโบราณเข้ามาจำนวนมาก จนผลิตไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า
วันที่ 1 ก.พ. 2566 จากการติดตามสภาพอากาศและการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในเขตเทือกเขาภูพาน อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ ที่สภาพอากาศจะหนาวเย็น และมีกระแลลมหนาวพัดแรง อุณหภูมิต่ำกว่าพื้นที่ราบ พบว่าในส่วนของผู้ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมืองหรือเสื้อผู้ไท ผลิตจากไยฝ้าย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด ยังเป็นสินค้ายอดฮิตขายได้ตลอดปี
โดยเฉพาะที่กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีหมู่ที่ 8 (แปรรูปผ้าพื้นเมืองผู้ไทกุดหว้า) ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ ซึ่งสมาชิกกลุ่มนำโดยนางวัลย์นา กาฬหว้า ประธานกลุ่มฯ ได้มารวมตัวกันเพื่อตัดเย็บและปักลายด้วยมือ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยระบุว่าเสื้อผ้าฝ้าย เมื่อสวมใส่แล้วจะรู้สึกอบอุ่น มากกว่าเนื้อผ้าชนิดอื่นๆทั่วไป ในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ซึ่งอากาศหนาวเย็นติดต่อกันหลายวัน จึงมีออเดอร์เข้ามามากกว่าในภาวะปกติ
นางสาวนารถนารี นารถโคตร อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 8 บ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ สมาชิกกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีหมู่ที่ 8 (แปรรูปผ้าพื้นเมืองผู้ไทกุดหว้า) กล่าวว่า เดิมการตัดเย็บผ้าและปักเย็บเสื้อผู้ไทของชุมชนกุดหว้าเรา ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ผู้ไท 100 % สืบสานเป็นมรดกทางภูมิปัญญามาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีจุดเด่นคือเป็นผ้าฝ้ายโบราณหรือภาษาถิ่นเรียกว่าเสื้อมอบ โดยต่างคนต่างทำ ก่อนที่จะมารวมตัวจัดตั้งกลุ่มเมื่อปี 2548 ด้วยการส่งเสริมของส่วนราชการ ทั้งพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลกุดหว้า และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ช่วงแรกมีสมาชิก 124 ราย ปัจจุบันเหลือ 82 ราย
นางนารถนารีกล่าวอีกว่า สำหรับเอกลักษณ์ของเสื้อผู้ไทของชุนชนกุดหว้า เน้นอนุรักษ์เสื้อผู้ไทโบราณหรือที่เรียกเสื้อมอบ สีดำ ประดับแถบอกเสื้อ แขน คอ ด้วยผ้าแถบหลากสี และปักลายต่างๆด้วยมือ นอกจากนี้ในส่วนของกระดุมทำด้วยเหรียญกษาปณ์โบราณ สมัยหลังๆใช้เหรียญที่ทำจากเงิน โลหะ กะลามะพร้าว และเหรียญสำเร็จรูป ทั้งนี้ ในสมัยก่อนหากสวมเสื้อมอบที่มีกระดุม หรือเหรียญกษาปณ์ร้อยเรียงกันหลายเหรียญ ยังบ่งบอกถึงว่าบุคลคลที่สวมใส่นั้นเป็นผู้มีฐานะอีกด้วย
“จากการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีฯ ของชาวชุมชนกุดหว้าเรา ทำให้เกิดความเข้มแข็ง มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเราเป็นเสื้อผู้ไทโบราณเฉพาะ ไม่นิยมตัดรูปทรงประยุกต์หรือตามกระแส แต่เหมาะสำหรับสวมใส่ทุกโอกาส สมาชิกจึงมีงานทำตลอดปี มีรายได้จากการจำหน่ายเสื้อผู้ไทย ซึ่งสามารถเป็นทุนการศึกษา ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ สร้างฐานะ มีการปันผลกำไรทุกปี ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นสมบัติที่มีคุณค่าของชาติพันธุ์ผู้ไทเรา และจะร่วมกันสืบสานไปถึงอนุชนรุ่นหลัง ปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เข้ามาเรียนรู้การทอและตัดเย็บเสื้อมอบกันแล้ว ขณะที่ในช่วงนี้ซึ่งสภาพอากาศหนาวเย็น พบว่ามีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ จนตัดเย็บและปักลายไม่ทัน เนื่องจากต้องการเสื้อมอบผู้ไทโบราณของกลุ่มเราไปสวมใส่ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและคลายหนาว” นางนารถนารีกล่าว
ทั้งนี้ ในการติดตามบรรยากาศการตัดเย็บและปักมือ ของสมาชิกกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีหมู่ที่ 8 (แปรรูปผ้าพื้นเมืองผู้ไทกุดหว้า) ดังกล่าว สมาชิกกลุ่มยังได้นำเสื้อผู้ไทโบราณแขนยาวตัวหนึ่ง โดยระบุว่าเป็นเสื้อมรดกภูมิปัญญาผู้ไท ผ่านการตัดเย็บพิเศษ และมีเหลือเพียงตัวเดียว โดยลักษณะพิเศษของเสื้อตัวนี้คือสวมใส่ได้ทั้ง 2 ด้าน สามารถพลิกกลับด้านนอกด้านในสวมใส่ได้ อย่างไม่รู้สึกว่าใส่เสื้อกลับด้าน หรือเรียกว่าเป็นเสื้อทูอินวัน ซื้อ 1 ได้ 2 นับเป็นอีกหนึ่งสุดยอดภูมิปัญญาชาวผู้ไทชุมชนกุดหว้า ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอย่างเหนียวแน่น และยังคงอนุรักษ์การตัดเย็บเสื้อผู้ไทโบราณอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
สมบูรณ์ นาสาทร ข่าวกาฬสินธุ์รายงาน