"การบินไทย" ประกาศออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วกว่ากำหนดปลายปี 2567 พร้อมกลับซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2568 หลัง EBITDA จ่อเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้ปีนี้คาดโต 40% จาก 9 หมื่นล้านบาทในปีก่อน
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไปแล้วราว 70% ซึ่งยังคงเหลือเรื่องของการจัดหาเงินทุนใหม่ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาเปรียบเทียบแนวทางจัดหาเงินทุนใหม่ และรอประเมินสถานการณ์ทางการเงินว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) เข้ามาต่อเนื่อง สะสมอยู่ในระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากกลางปีนี้ผลการดำเนินงานยังคงบวกต่อเนื่อง การบินไทยก็อาจยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาทุนใหม่ หรืออาจมีการจัดหาเพียง 1.25 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานในปัจจุบัน การบินไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) เฉลี่ยประมาณ 80% และคาดว่าทั้งปี 2566 จะคงอยู่ในระดับ 80% ส่วนรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดการณ์รายได้ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่การบินไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.6 - 1.7 แสนล้านบาทต่อปี ด้านความสามารถทำการบิน ขณะนี้การบินไทยเริ่มกลับมาทำการบินคิดเป็น 65% ของเส้นทางบินทั้งหมด หากเทียบกับปี 2562 และมีแผนจะทยอยเปิดบินเพิ่มเติมต่อเนื่องในเส้นทางเอเชีย จีน ญี่ปุ่น และยุโรปในเมืองที่มีความนิยมสูง ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลับมาเปิดบินคิดเป็น 80% ในปี 2568
"จากผลการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของดีมานด์ที่มีอยู่ ทำให้เรามั่นในว่าปีนี้ผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) จะเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์กำหนดของการยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทฯ ต้องมี EBITDA หักลบค่าเช่าและเงินสด ย้อนหลัง 12 เดือน ต้องคงเหลือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะทำให้การบินไทยสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนเป้าหมายกำหนดในปลายปี 2567 และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในปี 2568"