เภสัชกร พิพัฒน์ นิยมการ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในประเทศไทยปัจจุบันมีประชากรที่เป็นพาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ประมาณ 18-24 ล้านคน และพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ประมาณ 630,000 คน โดยผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินจะต้องได้รับยาขับเหล็ก ประมาณ 60,000 คน
ทั้งนี้ เมื่อประมาณปี 2544 ยาขับเหล็กที่มีใช้อยู่เดิมเป็นยาชนิดฉีด มีราคาแพง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ยาก ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาขับเหล็กที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน ราคากิโลกรัมละประมาณ 40,000 บาท มีแหล่งผลิตที่จำกัด อภ.จึงได้วิจัยพัฒนายาขับเหล็ก ชนิดรับประทานที่มีชื่อสามัญว่า ดีเฟอรีโฟรน อย่างครบวงจรมาตั้งแต่ปี 2545 ตั้งแต่การสังเคราะห์วัตถุดิบจนถึงผลิตเป็นยาเม็ด และยาน้ำรับประทาน จนได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว ผ่านการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาแบบสหสถาบันในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ โดย อภ.เป็นผู้สนับสนุนยาและงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลนครปฐม และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จนได้รับการยืนยันประสิทธิผลการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบ โดยยามีราคาเพียงเม็ดละ 3.50 บาท ในขณะนั้นที่ยาต้นแบบมีราคาเม็ดละ 60-70 บาท จึงช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยามากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และสามารถทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้
ปัจจุบันยาดังกล่าวยังมีการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม บรูไน และกัมพูชาแล้ว และล่าสุดเพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาได้ง่ายขึ้น องค์การฯจึงได้วิจัยยาขับเหล็กยาเม็ด ขนาด 250 mg ซึ่งมีความสะดวกในการรับประทานมากขึ้นโดยรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง จากเดิมที่ต้องรับประทานวันละ 3 – 4 ครั้ง ซึ่งยาชนิดนี้ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาเม็ดละ ประมาณ 500 บาท ซึ่งยาตัวใหม่นี้องค์การฯคาดว่าจะสามารถผลิตเป็นยาออกมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปี 2563 ราคาจะถูกลงกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศอย่างแน่นอน