สวทช. -กรมราง-สทร. ผนึกกำลังยกระดับอุตสาหกรรมระบบราง ตั้งเป้าสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทนในระบบขนส่งทางราง เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. กระทรวงคมนาคม ร่วมลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมด้านมาตรฐานและการทดสอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย ที่อาคารแชมเบอร์ 10 เมตร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบรางเป็นหนึ่งในระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก และสามารถลดเวลาในการเดินทางได้จริง โดยประเทศไทยเอง ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้อย่างมหาศาล ทั้งในกรุงเทพมหานคร ตามเมืองในภูมิภาคต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โคราช ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาระบบรถไฟรางทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในระยะทางไกลที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงระบบรางรถไฟทางไกลสมัยใหม่ อาทิ รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมกับ สปป. ลาว และมีแผนพัฒนาอีกหลายเส้นทางตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่กระทรวงคมนาคม ได้วางเป้าหมายและดำเนินการให้ระบบรางเป็นโครงข่ายคมนาคมหลักของประเทศ และเป็นผู้นำด้านระบบรางในภูมิภาค
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบราง และการยกระดับความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตประชาชนด้านการขนส่งและการเดินทาง จำเป็นต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญ สวทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง จึงได้ให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC ซึ่งมีความพร้อมด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ในระบบขนส่งทางรางในระดับสากล และได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC17025 เรียบร้อยแล้ว เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบชิ้นส่วนรถไฟประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาณัติสัญญาณของระบบรถไฟ ระบบสื่อสาร และด้านประสิทธิภาพการใช้งานต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจุบันที่ต้องการปรับรูปแบบจากผลิตภัณฑ์แบบเดิมไปสู่การผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทนในระบบขนส่งทางรางที่จะมีความต้องการมากขึ้น
นอกจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ของระบบรางในห้องปฏิบัติการทดสอบแล้ว PTEC ยังมีประสบการณ์ในการทดสอบการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility : EMC) สำหรับรถไฟมาแล้วมากกว่า 20 ปี โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่การสำรวจการรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้าของระบบควบคุมและโทรคมนาคมตลอดเส้นแนวราง ที่พาดผ่านสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล เสาโทรคมนาคม เสาวิทยุโทรทัศน์ ธนาคาร ระบบสัญญาณไฟจราจรบนถนน ซึ่งสถานที่ต่าง ๆ นี้ มีความเสี่ยงในการรบกวนสัญญาณควบคุมของระบบรถไฟด้วย โดยที่ผ่านมา PTEC ได้ดำเนินการทดสอบสำหรับรถไฟหลายเส้นทางแล้ว เช่น สายสีม่วง สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายสีทอง รวมถึงรถไฟฟ้า BTS อีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมการทดสอบระบบรางนอกห้องปฏิบัติการมากยิ่งขึ้นตามข้อกำหนดด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ (EHIA) ตามแนวทางสากล ซึ่งในปี 2566 สวทช. จึงให้ PTEC ทำการขยายขอบข่ายการทดสอบจากด้าน EMC โดยเพิ่มการทดสอบด้านการทดสอบเสียง (sound acoustic) เมื่อขบวนรถไฟวิ่งผ่านพื้นที่ชุมชน เพื่อกำหนดจุดวาง กำแพงกั้นเสียง ลดเสียงดังและการทดสอบแรงสั่นสะเทือนบนขบวนรถไฟขณะเคลื่อนที่ (rolling stock vibration) เพื่อให้ผู้โดยสารมีความสะดวกและปลอดภัยตลอดการเดินทาง
“ที่ผ่านมา สวทช. ร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง กรมการขนส่งทางราง และ สทร. รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมและสนใจเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการนำความรู้ ความสามารถในการวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่ สวทช. มี ให้เกิดขึ้นจริงและใช้ประโยชน์จริง เพราะ สวทช. ถือเป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งเครื่องมือ บุคลากร และบริการที่พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. ไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศและในภูมิภาค” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะรับรองและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางขึ้นในประเทศไทย โดยใช้หลักการ “Thai First : ไทยทำ ไทยใช้” ของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเลือกที่จะใช้แรงงานขั้นสูงและคนไทยเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางโดยคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและลดการจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“เรามี PTEC ของ สวทช. ซึ่งมีทรัพยากรจำนวนมากและบุคลากรที่มีความรู้ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบที่ทันสมัย องค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ จะเข้ามาช่วยการพัฒนาระบบรางเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยี ให้เราควรจะยืนอยู่ด้วยเทคโนโลยีของคนไทย ทั้งการซ่อม การสร้างและใช้เทคโนโลยีของประเทศไทย ตามนโยบายบาย Thai First ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเราควรจะเริ่มต้นและเรียนรู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้”
ทั้งนี้เมื่อ สวทช. และ สทร. และกรมการขนส่งทางราง ร่วมกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ เมื่อกรมการขนส่งทางรางออกมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการผลิตแล้ว ทาง สวทช. มีองค์ความรู้และวิธีการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล ทาง สทร. ก็สามารถมาบูรณาการความรู้เหล่านี้เข้ามาเพื่อทำงานร่วมกันได้ เพื่อลดการนำเข้าและลดการจ่ายเงินตราต่างประเทศ ที่สำคัญคือคนไทยได้ความรู้เหล่านี้ มีมูลค่าที่เกิดขึ้นกับคนไทย ทั้งมูลค่าการจ้างงาน การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระบบรางได้ เป็นมูลค่าเพิ่มที่ลดการนำเข้าได้เป็นอย่างดี
ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. กล่าวว่า สทร. ยึดเป้าหมายของประเทศในการขนส่งทางรางจาก 15 % เป็น 40% ในอนาคต ซึ่ง สทร. ไม่สามารถดำเนินการได้โดยองค์กรเดียว หากขาดหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินการร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีในการซ่อมบำรุง การส่งเสริมการวิจัยเพื่อผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และระบบทดสอบและรับรองมาตรฐานซึ่งทาง PTEC สวทช. มีความเชี่ยวชาญในระบบทดสอบมาตรฐานที่ได้มาตรฐานสากล ความร่วมมือในการดำเนินงานขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมด้านมาตรฐานและการทดสอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบรางเพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย
“สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการเวลาจะใช้ชิ้นส่วนใดก็จะอ้างอิงระบบมาตรฐานในการทดสอบ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการร่วมมือกับ PTEC สวทช. ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการผลิตชิ้นส่วนทดแทนที่ได้มาตรฐาน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามเป้าหมาย Thai Frist ของกระทรวงคมนาคมต่อไป” ผู้อำนวยการ สทร. กล่าว