นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำว่า เป็นผลมาจากอุปสงค์ หรือความต้องการสินค้าเกษตรมีน้อยกว่าอุปทานหรือปริมาณผลผลิตในแต่ละฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันมากที่สุด (Peak) ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ตลาดนำการผลิตหรือผลิตตามตลาดต้องการ รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมระบบตลาดออนไลน์
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและประเทศ รัฐบาลได้มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาและรายได้ของเกษตรกร เช่น
ข้าว มีแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 เช่น ส่งเสริมนาแปลงใหญ่และเชื่อมโยงตลาดข้าว GAP/อินทรีย์ ปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว ปลูกพืชหลากหลาย/พืชปุ๋ยสดลดรอบนาปรัง รวมทั้งประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น
สับปะรด ได้ประสานโมเดิร์นเทรดช่วยรับซื้อสับปะรดเพิ่มเติมจากปกติ และให้โรงงานแปรรูปสับปะรดเพิ่มการรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลจากโรงงาน เช่น ภาคเหนือ ซึ่งสถานการณ์ราคาได้คลี่คลายแล้ว
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวทางบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และได้ประสานให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยรับซื้อจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.00 บาท ที่ความชื้น 14.5% (ราคา ณ กรุงเทพฯและปริมณฑล) และเพิ่มช่องทางพิเศษให้สถาบันเกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายได้โดยตรง รวมทั้งพยายามแก้ไขปัญหาปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
ยางพารา ในปี 2560 ได้เร่งรัดการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นโดยเฉพาะในหน่วยงานของรัฐ คาดว่าปริมาณความต้องการน้ำยางข้น 22,300 ตัน และยางแห้ง 2,900 ตัน ซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในปี 2561 รวมทั้งขณะนี้ กยท. ร่วมกับเอกชน กำลังจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และเชื่อมโยงตลาดท้องถิ่น (108 แห่ง) ตลาดกลาง (6 แห่ง) และตลาดภูมิภาค (3 ประเทศ) ด้วยการซื้อขายยางผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์