ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
มาบตาพุด/สมุทรสาคร จ่อรับมรดกเตาเผาขยะหลัง กทม.ยังอ้ำอึ้ง ตีมึน เมินของฟรีจากยุ่น
22 ต.ค. 2558

  เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ย่อมหนีไม่พ้นที่จะพบเจอหลากหลายปัญหาที่ดูเหมือนยิ่งแก้ก็ยิ่งวุ่น โดยเฉพาะเรื่องของน้ำท่วม รถติด อาชญากรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะ ที่นับวันจะยิ่งบริหารจัดการได้ลำบาก เนื่องจากปริมาณที่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขด้วยการนำกลับทำปุ๋ย แต่ก็มีเพียงร้อยละ12 เท่านั้น จากขยะทั้งหมด เกือบ 10,000 ตันต่อวัน สำหรับส่วนที่เหลือแม้จะมีการกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบที่ถูกสุขลักษณะ แต่วิธีการนี้ก็มีข้อเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะพื้นที่จัดเก็บ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปสถานที่ฝังกลบที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเขตเมือง ด้วยเหตุนี้กรุงเทพมหานคร จึงได้มีแนวคิดการสร้างเตาเผาขยะ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

  สำหรับเรื่องราวของโรงงานเผาขยะในกรุงเทพฯ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541โดยการเสนอเงินทุนและเทคโนโลยีจากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ท้ายที่สุดโครงการนี้ถูกคัดค้านจากภาคประชาสังคมและองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เนื่องจากพบว่าเบื้องหลังการให้เงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศที่เจริญแล้วเหล่านี้ มีสิ่งที่แฝงเร้นคือการนำเทคโนโลยีสกปรก ขยะและมลพิษมายังประเทศกำลังพัฒนา ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ก็มีข้อสรุปว่าไม่มีเทคโนโลยีการเผาขยะใดที่สะอาดอย่างแท้จริง ดังนั้นโครงการสร้างโรงงานเผาขยะดังกล่าวจึงถูกพับเก็บไปกว่าสิบปี  

   แต่แล้วปีพ.ศ. 2555 กรุงเทพมหานคร ก็หยิบแนวคิดนี้กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้สร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอยพลังงานความร้อนสูง หรือโรงงานเผาขยะ ในพื้นที่เขตหนองแขม จากนั้นไม่นานก็มีการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และการประเมินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (EAS) ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่สนับสนุนและส่วนใหญ่มีผลประโยชน์จากการกองขยะในพื้นที่ แต่กลับเพิกเฉยต่อคำคัดค้านของชุมชนหรือประชาชนอื่นๆ ที่เห็นถึงผลกระทบอันร้ายแรงในอนาคต จนเกิดการทำสัญญากับบริษัทซีแอนด์จี เอ็นไวรอนแมนทอล โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของรัฐบาลจีน เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและเดินระบบเตาเผาขยะมูลฝอยขนาด 300-500 ตัน/วัน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8 เมกะวัตต์ต่อวัน หรือคิดเป็นเงินกว่า 9 แสนบาทต่อวัน ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม บนพื้นที่ราว 30 ไร่ เมื่อวันที่  7 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้         

  อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังจับตา ขณะเดียวกันก็ฉงนงงงวยไปตามๆ กัน ไม่ได้อยู่ที่สร้างแล้วจะเกิดผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างไร จะคุ้มทุนหรือไม่ แต่กลับอยู่ที่ประเด็นที่องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ของประเทศญี่ปุ่น เสนอสร้างเตาเผาขยะแบบให้ฟรีให้แก่กรุงเทพมหานคร แต่ทางกรุงเทพมหานครเอง กลับบ่ายเบี่ยง โดยอ้างในเรื่องของการหาพื้นที่ที่เหมาะสมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความคืบหน้าของโครงการเตาเผาขยะหนองแขม

  ซึ่ง นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซน์ และมีขยะเป็นจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้มนุษย์เป็นต้นเหตุของปัญหา โดยจากการเก็บสถิติจำนวนขยะที่เก็บได้ตั้งแต่ปี 2528 พบว่าจำนวนขยะมีมากขึ้นเรื่อยๆ กทม.จึงได้จัดโครงการเพื่อทำให้จำนวนขยะลง โดยการคัดแยกขยะบางส่วนมาใช้ประโยชน์ บางส่วนฝังกลบ และหมักทำปุ๋ย โดยร่วมกับประชาชน อาทิ โครงจัดการขยะร่วมกับชุมชน การคัดแยกขยะอย่างเต็มระบบ ซึ่งขณะนี้กำลังทดลองใช้ที่สวนจัตุจักร ซึ่งก็ได้ผลตอบพอสมควร อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมา แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับการกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องมีการสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งนอกจากจะกำจัดขยะได้ส่วนหนึ่งแล้ว ยังได้พลังงานเป็นผลพลอยได้กลับมาใช้ได้อีกด้วย

  นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดการน้ำเสียยังมีระบบจัดการไม่เพียงพอ แม้ปัจจุบันจะมีการใช้ระบบไหลเวียนน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสีย โดยมีโรงบำบัดน้ำเสียอีก 7 แห่งที่คอยแก้ปัญหาอยู่ ขณะที่ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก แม้จะมีจำนวนลดลงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แต่การหายใจเข้าไปทุกวันก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ดี ด้านปัญหาควันดำ จากการสุ่มตรวจ พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ต้องมีพื้นที่สีขียวในเมือง 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งปัญหานี้ผู้ว่าฯกทม.มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวย่างต่อเนื่อง คิดว่าอีกไม่นานจะทำได้ตามมาตรฐาน

  โดยกรุงเทพฯ ได้ทำแผน 5 ปี เพื่อรองรับแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศ ซึ่งจะต้องเน้นสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่า ขยะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ ซึ่งตนยอมรับว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองขนาดใหญ่การสร้างความเข้าใจกับประชาชนจึงเป็นอุปสรรคอย่างมาก แต่ทั้งนี้จะดำเนินการให้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังมองว่าไม่มีเทคโนโลยีประเภทไหนที่เหมาะสำหรับกับการจัดการขยะ เพราะมองว่าแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดย่อมจะมีการจัดการขยะที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้จัดการขยะจะต้องแตกต่างด้วย

  ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เคยกล่าวไว้ในช่วงที่ผ่านมาว่า เมื่อต้นปีได้มีบริษัทประเทศญี่ปุ่นยื่นขอเสนอขอสร้างโรงงานกำจัดขยะในรูปแบบของเตาเผาขยะไร้มลพิษโดยให้ทาง กทม.เป็นคนจัดหาพื้นที่ในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งคาดว่าสถานที่ในการสร้างโรงงานเบื้องต้นน่าจะเป็นที่หนองแขม เนื่องจากบริเวณนั้น กทม.มีโครงการสร้างโรงงานเตาเผาขยะพลังงานความร้อนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 300 ตัน/วัน แต่ในท้ายที่สุด กทม.ก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่ากังวลในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีการก่อสร้างในพื้นที่หนองแขมอยู่แล้ว ทำให้สังคมตั้งข้อกังขากับ กทม.ในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของส่วนต่าง

  ด้านนายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสียเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาลนั้น ปัจจุบันการผลักดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ ได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้พลังงานจากขยะที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) แล้วทั้งสิ้น 134.717 เมกะวัตต์ จาก 22 โครงการ รวมทั้งมีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 101.656 เมกกะวัตต์ จาก 19 โครงการ และปัจจุบันมีโครงการที่มีศักยภาพได้รับอนุมัติการตอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 7 โครงการ จำนวน 144.404 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะของประเทศไทยขณะนี้ มีมากถึง48 โครงการ กำลังผลิต 380.777 เมกะวัตต์
  ทั้งนี้ ภาพรวมแนวทางการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ กระทรวงพลังงานได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) สำหรับไฟฟ้าจากขยะ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบ FiT เมือวันที่ 15 ธค.2557 สำหรับขยะชุมชน และ FiT สำหรับขยะอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 กพ. 2558 ตามลำดับ อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดำเนินการ ภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (2558 – 2562) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน และมีโครงการหรือแผนงานที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแบบกระจายศูนย์ โครงการศึกษาออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด เป็นต้น
  ​นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานขยะ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ขอความร่วมมือในการแก้ไขผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะและโรงไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงการประสานให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่ง (Zoning) พื้นที่ที่มีศักยภาพจากพลังงานทดแทน โดยให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรกอีกด้วย
  สำหรับความร่วมมือของ พพ. กับ กทม. ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้น พพ.ได้ให้ความร่วมมือเพียงข้อมูล ข้อเสนอแนะ แนวทาง ทางวิชาการ เท่านั้น แต่ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจแต่อย่างใด

  ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างพื้นที่ รองรับเตาเผาขยะขององค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ว่า ขณะนี้ได้ทำการศึกษาถึงความคุ้มค่าและเหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ในภาคตะวันออก จะใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และในภาคตะวันตก จะใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร โดยคาดว่าจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

  ทั้งนี้ เรื่องเตาเผาขยะอันตราย กรอ.มองว่าควรปรับกระบวนการรับขยะ จากเดิมที่คาดว่าจะรองรับขยะอุตสาหกรรม 30% ขยะชุมชน 70% โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นรองรับขยะอุตสาหกรรม 70% และขยะชุมชน 30% ซึ่งจากการศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นมองว่า หากปรับสัดส่วนแบบนี้จะคุ้มค่าลงทุนมากกว่า และหากไปจัดตั้งในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถก่อสร้างได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น และทำให้ขยะอุตสาหกรรมเข้าระบบมากขึ้น อีกทั้ง กรอ.ยังมีแนวทางการผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของไทยให้ได้มาตรฐานเท่ากับนิคมฯ เชิงนิเวศของประเทศญี่ปุ่นด้วย

  นอกจากนี้  กรอ.ได้ทำแผนการศึกษาพื้นที่ตั้งนิคมกากอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว และจะหารือร่วมกับ กนอ. โดย คาดว่าจะได้พื้นที่เหมาะสมภายในเดือน พ.ย.นี้ สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพจะอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ลำพูน ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น

  นายพสุ กล่าวอีกว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จากการติดตามนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบบำบัดพบว่า สามารถติดตามนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบได้แล้ว 6.52 แสนตัน หรือคิดเป็น 54.4% ของเป้าหมาย ที่จำนวน 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายแจ้งกากอันตรายแล้ว แต่ขอเก็บไว้ในโรงงานก่อน ซึ่งจะส่งเข้าระบบช่วงก่อนสิ้นปี ซึ่ง กรอ.ได้แจ้งเร่งรัดการนำกากเข้าระบบให้ทันกำหนด และคาดทั้งปีจะสามารถนำกากเข้าระบบได้ตามเป้า

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...