วันที่ 8 มี.ค. 2566 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ได้มีกลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา มาเปิดร้านในลักษณะรถเข็น ขายโรตี เคบับ ซึ่งเป็นอาชีพต้องห้าม ซึ่งเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งๆที่เมื่อเดือน ก.พ.2566 ที่ผ่านมา กก.สืบสวน บก.ตม.1 เพิ่งนำกำลังเข้าจับกุมไปแล้วนับสิบราย พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผบก.ตม.1 จึงสั่งการให้ ว่าที่ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำข้อมูลดังกล่าวประชุมวางแผน เพื่อดำเนินการเข้าจับกุม
เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบว่าภายในซอยรามบุตรี และถนนข้าวสาร มีคนต่างด้าวกลับมาเปิดร้านขายโรตีและเคบับ จำนวนหลายร้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา กก.สืบสวน บก.ตม.1 นำกำลังเข้าจับกุมไปแล้วถึง 11 ราย จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พร้อมแสดงบัตรประจำตัวให้คนต่างด้าวดู ซึ่งขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปตรวจสอบนั้น ได้เกิดความโกลาหล คนต่างด้าวหลายรายไหวตัวทันและได้วิ่งหลบหนีไปอย่างอลหม่านทิ้งไว้เพียงรถเข็นขายของ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาไว้ได้ 4 รายและสัญชาติลาว 1 ราย รวมทั้งหมด 5 ราย ได้แก่
1.นาย เอเอ้ อายุ 35 ปี สัญชาติเมียนมา
2. นาง หลอย อายุ 19 ปี สัญชาติเมียนมา
3. นาง ตันดา อายุ 23 ปี สัญชาติเมียนมา
4. นาย ลามู อายุ 32 ปี สัญชาติเมียนมา
5. นาย อำคา แก้ววงษา อายุ 32 ปี สัญชาติลาว
ซึ่งระหว่างการตรวจสอบคนต่างด้าวทั้ง 5 ราย ไม่สามารถแสดงเอกสารหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานให้เจ้าหน้าที่ดูได้ ซึ่งการเร่ขายสินค้านั้นเป็นงานต้องห้าม คนต่างด้าวไม่สามารถทำได้ อันเป็นความผิดตาม มาตรา 8 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และทั้งหมดยอมรับว่าได้ลักลอบเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางพรมแดนที่ติดกับประเทศไทยและเข้ามาเปิดร้านขายโรตี เคบับ รวมถึงสินค้าอื่นๆ โดยมีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยที่ค้าขายอย่างถูกต้องในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สืบสวน บก.ตม.1 จึงได้แจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาให้คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาทั้ง 11 รายทราบว่า "เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางอนุญาตตามกฎหมาย และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน" จากนั้นได้นำตัวทั้ง 5 ราย ส่ง พนักงานสอบสวน บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ต่อไป
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ซึ่งได้มอบหมายให้ สตม. เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผบก.ตม.1 พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รอง ผบก.ตม.1 รับผิดชอบงานสืบสวน ที่ได้สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีเงิน อันเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการที่ทำมาหากินโดยสุจริต รวมทั้งลักลอบจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบ
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / รายงาน