ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
มท.กำชับนายอำเภอเป็นผู้นำพื้นที่กำกับติดตาม - พัฒนากลไกฝ่ายปกครอง
17 ก.ค. 2560

       รมว.มท.เน้นย้ำให้นายอำเภอเป็นผู้นำในพื้นที่กำกับติดตามและพัฒนากลไกฝ่ายปกครองทั้งท้องที่และท้องถิ่นให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจและนโยบายสำคัญของรัฐบาลสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ผู้บริหารกรมการปกครอง ปลัดจังหวัด นายอำเภอ จ่าจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังรวมจำนวน 1,180 คน โดยได้มีการถ่ายทอดผ่านระบบ Dopa Channel ไปยังที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศ

       ในวาระแรก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงภารกิจและบทบาทของกรมการปกครองโดยเฉพาะ "นายอำเภอ" ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่สำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ในพื้นที่ เป็นผู้นำเซลล์ชิ้นเล็กที่มีความสมบูรณ์ในตนเองที่สามารถบังคับบัญชาและกำกับติดตามการทำงานในท้องที่และท้องถิ่น ทั้งงานตามหน้าที่ (Function Based) ตามแนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล (Agenda Based) และงานตามหลักภารกิจพื้นที่ (Area Based) อย่างมีประสิทธิภาพ การบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ และการบูรณาการการทำงานกับคณะทำงานชุดต่าง ๆ รวมทั้งส่วนราชการอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของฝ่ายปกครองในพื้นที่

     จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

     1) การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และ "ศาสตร์พระราชา" มาเป็นหลักสำคัญในการทำงาน รวมทั้งต้องเผยแพร่ขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่จนเป็นวิถีชีวิต (Way of Life) และที่ผ่านมาขอขอบคุณนายอำเภอทุกคนที่ได้ดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางเข้ากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ประชาชนได้ร่วมน้อมถวายความจงรักภักดีด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดี

     ในเรื่องการเตรียมการจัดงานพิธีถวายดอกไม้จันทน์เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้องดำเนินการจัดงานให้สมพระเกียรติ และจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ขอให้เชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

     สำหรับการจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจในพื้นที่จะต้องสะท้อนให้ประชาชนได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเชิญชวนข้าราชการและประชาชนร่วมกันปลูกดอกดาวเรืองและดอกไม้สีเหลืองให้บานสะพรั่งในช่วงงานพระราชพิธี

     2) ด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารให้รองรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 ขอให้ศึกษาแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ชาติ และนำมาปรับใช้ตามศักยภาพของพื้นที่ โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในพื้นที่ หาวิธีการเพื่อให้ประชาชน "ทำน้อย ได้มาก" นั่นคือ ต้นทุนการผลิตต่ำและได้ผลตอบแทนสูง เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม

     3) ด้านสังคม สังคมที่ดีพลเมืองจะต้องเริ่มมีพื้นฐานที่ดี นั่นคือ จะต้องเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชน จะต้องช่วยกันกล่อมเกลาคนในสังคมให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นคนดี มีเหตุผล มีความกตัญญูรู้คุณคน และเป็นคนเก่ง มีศักยภาพการทำงานและพัฒนาฝีมือ (Skills) โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศชาติ

     นอกจากนี้ ขอให้ขับเคลื่อนโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ทุกอำเภอต้องให้ความสำคัญและดำเนินการให้เกิดการพัฒนาสืบสานพระราชปณิธานให้เกิดความเรียบร้อย

     4) ด้านการเมือง จะต้องช่วยกันกล่อมเกลา สร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือกบุคคลที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ การได้คนดี คนเก่ง มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ

     5) ด้านการบูรณาการแผนพัฒนาพื้นที่ (One Plan) ต้องมีความเชื่อมโยงตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถึงแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งแผนพัฒนาทุกระดับจะต้องประกอบด้วย ปัญหา/ความต้องการ/การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณในพื้นที่ โดยใช้กลไกประชารัฐทุกระดับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย

     6) ด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องดำเนินการลด Demand และปราบปราม Supply ของยาเสพติด รวมทั้งขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

     7) การดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรม ฝ่ายปกครองต้องติดตาม เร่งรัด และแก้ไขปัญหา หรือบูรณาการส่วนราชการอื่นร่วมแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยหากเป็นเรื่องที่มีขั้นตอนการดำเนินงาน จะต้องรายงานความคืบหน้าของการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะ

    8) ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากพบการบุกรุกหรือครอบครองพื้นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ในเรื่องของความสะอาดเรียบร้อยในพื้นที่ เรื่องน้ำเสีย ขอให้ร่วมกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ และแก้ไขสภาพน้ำเสียให้กลับมามีสภาพดีขึ้น เรื่องขยะมูลฝอย ขอให้สร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือกับประชาชนช่วยกันคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs ทั้งในบ้าน ชุมชน รวมถึงพื้นที่สาธารณะ และเรื่องผักตบชวา จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการเก็บใหญ่ และเก็บเล็กอย่างต่อเนื่อง โดยให้ใช้กลไก "ชมรมคนริมน้ำ" ที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว ระดมสรรพกำลังของประชาชนสมาชิกชมรมช่วยกันเก็บเล็กเพื่อให้แหล่งน้ำปลอดผักตบชวา

     9) ตลาดชุมชน ขอให้สำรวจว่าตลาดชุมชนในพื้นที่มีเพียงพอกับการจำหน่ายสินค้าของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ หากเพียงพอให้ปรับปรุงตลาดให้ได้มาตรฐาน หากไม่มี หรือไม่เพียงพอ ให้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและในพื้นที่หาทางแก้ไขต่อไป

     10) การดำเนินงานนโยบายสานพลังประชารัฐ ต้องมีความเข้าใจกลไก/บทบาทของบริษัทประชารัฐสามัคคี และช่วยผลักดันสนับสนุนทั้งในเรื่องเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวให้เกิดเป็นรูปธรรม

     11) การควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมือง นายอำเภอต้องกำชับกลไกฝ่ายปกครองให้สอดส่องดูแล และกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้หมั่นตรวจตราอาคารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งในอนาคตจะมีการจัดทำผังน้ำ (Flood Way) เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

     12) การดำเนินการด้านสาธารณภัย นายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการอำเภอตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และจัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และการช่วยเหลือเยียวยา

     13) การดูแลที่ดินสาธารณะ ขอให้ทำความเข้าใจแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการรังวัดที่ดินที่มีประสิทธิภาพ ลดข้อพิพาท และเกิดประสิทธิภาพแม่นยำขึ้น

     14) การดำเนินงาน OTOP ขอให้ดำเนินการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพและสร้างมูลค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง

     ทั้งนี้  ปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ถือเป็นกำลังสำคัญของรัฐและกระทรวงมหาดไทยที่ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากที่สุด จึงขอเป็นกำลังใจให้ปฏิบัติราชการด้วยความมุ่งมั่น และน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...