วันอังคาร ที่ 14 มีนาคม 2566 นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ ศาลาประชาคมตำบลห้วยกะปิ ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีนายประสิทธิ์ อินทโชติ นายอำเภอเมืองชลบุรี นายอัมรินทร์ ตั้งประกอบ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยกะปิ นายบุญลือ คงสูงเนิน เกษตรจังหวัดชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมกิจกรรมครั้งนี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ครั้งที่ 2 ปี2566 กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการฝึกอบรมอาชีพด้านการเกษตร และเปิดให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ จำนวน 11 คลินิก ได้แก่ คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกข้าว คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกส่งเสริมการเกษตร คลินิกอื่นๆ และการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีเกษตรกรมาร่วมงานและเข้ารับบริการทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 300 คน
สำหรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรได้อย่างรวดเร็วอย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งมีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาให้ได้รับบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตร เสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไป และการให้บริการประชาชน ต่อไป
นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ แล้วนำผลการวิจัยไปถ่ายทอดความรู้ สู่เกษตรกร เพื่อพัฒนาการผลิต และแก้ไขปัญหาการผลิตสินค้าเกษตรของตนเอง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยปกติจะดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น การฝึกอบรม การสาธิต การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ไปพบปะเกษตรกรในพื้นที่โดยเฉพาะกรณีของการเกิดโรคพืช และแมลงศัตรูพืชระบาดอย่างรุนแรง จนเกษตรกร ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามลำพัง อย่างไรก็ตามการดำเนินงานดังกล่าว จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรด้วย ซึ่งเกษตรกรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด การระบาดของโรคพืช และแมลงศัตรูพืชจึงจะลดน้อยลงหรือหายไป
สำหรับการจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นวิธีการดําเนินงานอย่างหนึ่ง ที่สามารถทำให้การบริการทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บรรลุผลสําเร็จตามภารกิจที่รับผิดชอบ โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทําให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหา ให้ได้รับบริการทางการเกษตรอย่างรวดเร็วทั่วถึงและครบถ้วน เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัย โรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ และการให้วัคซีนป้องกันโรครวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตรเสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไป
ซึ่งเป็นการดําเนินการในลักษณะบูรณาการการทํางานระหว่าง นักวิชาการเกษตรของหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละสาขา ทั้งด้านพืช สัตว์ และประมง พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิชาการด้านต่างๆ มาให้บริการในคลินิกเกษตร โดยสามารถเคลื่อนที่เข้าไปได้ถึงในระดับตําบล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้ารับบริการทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทุกด้านในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้บูรณาการกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันอีกด้วย