นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ประเทศแคนาดา ว่า ตลาดไอศกรีมในแคนาดามีมูลค่าสูงถึง 284 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,100 ล้านบาท และหากรวมถึงสินค้าขนมหวานแช่แข็ง อาทิ โยเกิร์ตแช่แข็ง และเชอร์เบท จะมีมูลค่าสูงถึง 409 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 10,225 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีโอกาสและมีอัตราการขยายตัวสูงได้แก่ ไอศกรีมที่ไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นม และไอศกรีมที่มีส่วนผสมแปลกใหม่ เช่น ไอศกรีมที่ผลิตจากนมถั่วอัลมอนด์ ไอศกรีมออร์แกนิก หรือแม้แต่ไอศกรีมผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ถึงแม้ว่าภาพรวมการบริโภคไอศกรีมของชาวแคนาดาจะมีอัตราลดลงจาก 7.7 ลิตรต่อคนในปี 2551 เป็น 6.8 ลิตรต่อคนในปี 2559 เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ในทางกลับกันไอศกรีมที่มีอัตราขยายตัวได้แก่ ไอศกรีมที่ไม่มีส่วนผสมของนม หรือ Non-Dairy Ice Cream และไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ทำตลาดสินค้านี้ โดยเฉพาะไอศกรีมมะพร้าว ซึ่งทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิดที่ผลิตจากมะพร้าวได้รับความสนใจอย่างมากในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าว กะทิ ขนมมะพร้าวอบกรอบ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมมะพร้าว เช่น สบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว เป็นต้น นอกจากนี้ไอศกรีมรสชาติผลไม้ไทยและขนมไทยมีโอกาสในตลาดนี้เช่นกัน” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
นายธนกฤต เหลืองอาสนะทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ระบุผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคไอศกรีมในแคนาดาว่า ผู้บริโภคถึงร้อยละ 47 ให้ความสนใจรสชาติและคุณภาพวัตถุดิบที่นำมาผลิตไอศกรีม โดยควรเป็นระดับพรีเมี่ยมและแปลกใหม่ ในขณะที่เพียงร้อยละ 19 ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ รูปแบบของไอศกรีมที่ได้รับความนิยมได้แก่ รูปแบบ Single Serving หรือขนาดสำหรับบริโภคหนึ่งครั้ง ทำให้ไอศกรีมที่จำหน่ายมีขนาดเล็กลงแต่ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงขึ้น ปัจจุบันผู้ผลิตไอศกรีมในอเมริกาเหนือต่างออกสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ไอศกรีมที่ผลิตจากช็อกโกแลตคุณภาพสูง ไอศกรีมที่ผลิตจากนมถั่วอัลมอนด์ ไอศกรีมผสมวอดก้าและเครื่องดื่มต่างๆ ไอศกรีมที่ผสมขนม ไอศกรีมผสมผลไม้จากประเทศอื่นๆ เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวในตอนท้ายว่า ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มมิลเลเนียล (อายุระหว่าง 20 – 36 ปี) จะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กลุ่มนี้มีความต้องการสินค้าที่มีความแปลกใหม่ ความน่าตื่นเต้น ซึ่งผู้ผลิตสินค้าจะต้องปรับตัวให้ทัน โดยอีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การนำเสนอสินค้าเหล่านี้และรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับแนวโน้มตลาด ความท้าทายของสินค้าไอศกรีมอยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม ราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้า หากต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพด้วย ผู้บริโภคยินดีเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาสูงกว่า เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าใหม่กว่า สินค้าที่มีรูปแบบและรสชาติเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป