นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ ที่ปรึกษาโครงการสำรวจตลาดสื่อสารประจำปี 59 เปิดเผยผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารประจำปี 2559 และประมาณการปี 2560 (จัดทำโดยกสทช. และสวทช.) ว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดสื่อสารปี 60 จะมีการเติบโตต่อเนื่องอีก 9.5% หรือมีมูลค่ารวม 632,120 ล้านบาท จากปี 59 ที่มีการเติบโต 7.7% โดยมีมูลค่า 577,329 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายการใช้จ่ายด้านโมบายที่เพิ่มสูงขึ้นการพัฒนาระบบเครือข่ายขององค์กรเพื่อการยกระดับเป็นองค์กรดิจิทัล
ขณะที่การเติบโตของการลงทุนด้านอุปกรณ์สื่อสารไร้สายจะชะลอลงในปี 60 ภายหลังจากที่มีการเร่งลงทุนในช่วงก่อนหน้า
สำหรับตลาดเครื่องโทรศัพท์มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดอุปกรณ์สื่อสาร โดยเฉพาะเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมูลค่าตลาด คาดว่าจะเติบโตอีก 7.8% ในปี 60 หรือมีมูลค่า 118,812 ล้านบาท จากแรงหนุนของความต้องการสมาร์ทโฟนระดับบน จากในปี 59 อยู่ที่ 110,259 ล้านบาท เติบโต 6.3%
"ตลาดสื่อสารจะไม่เติบโตแบบหวือหวามาก เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันทางด้านราคาและการเข้าสู่ตลาดของอุปกรณ์ราคาถูก ขณะที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะเน้นความหลากหลายของบริการมากขึ้นหรือมีบริการมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นจุดขายและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า" นายศุภชัย กล่าว
ส่วนแนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญต่อตลาดสื่อสาร คือการมุ่งตอบโจทย์การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) และความเป็นอัจฉริยะ (Smart Everything) ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอและรับชม Streaming Content การเติบโตของธุรกิจ Cloud และData Center รวมไปถึงเทคโนโลยี IoT ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ และเมื่อการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตที่ผูกติดกับดิจิทัลมากขึ้นซึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตกระบวนการปฏิบัติงานและรวมถึงการนำเสนอและนำส่งบริการแก่ลูกค้าผ่านเครือข่ายดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลิตภาพตลอดจนสร้างความสะดวกสบายและความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค
ด้านตลาดบริการสื่อสารปี 60 จะเติบโต 12.2% มีมูลค่า 371,011 ล้านบาท โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทบริการที่ไม่ใช่เสียง (Mobile Nonvoice) โดยคาดว่าปี 60 จะเติบโตอีก 35.2% หรือมีมูลค่า 196,942 ล้านบาท จากปี 59 ที่มีมูลค่า145,667 ล้านบาท เติบโต 35.5% เนื่องจากพฤติกรรมผู้ใช้งานนิยมการสื่อสารผ่านบริการ OTT และ Social Media รวมไปถึงพฤติกรรมรับชม Content บนโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการใช้งานที่ไม่ใช่เสียงให้เติบโต
ขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตและบริการสื่อสารข้อมูล แม้จะมีการเติบโตแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยบริการอินเทอร์เน็ต โดยปี 60 คาดว่าจะเติบโต 3.5% มีมูลค่าประมาณ 57,691 ล้านบาท จากในปี 59 ที่มีมูลค่า 55,740 ล้านบาท เติบโต 4.0%
ตลาดบริการประเภทเสียงมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 60 ตลาดบริการโทรศัพท์ประจำที่ จะติดลบ 14.5% หรือมีมูลค่า 10,265 ล้านบาท จากที่ติดลบ 18.9% หรือมีมูลค่า 12,006 ล้านบาทในปี 59 เช่นเดียวกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนประเภทเสียง (Voice) ที่คาดว่าจะลดลงเหลือ 86,020 ล้านบาท จากที่มีมูลค่า 95,897 ล้านบาท