EXIM BANK เดินหน้าเติมความรู้ โอกาส และเติมทุน สร้างผู้ส่งออก SMEs ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตยั่งยืน
ปัจจุบันธุรกิจ SMEs ทั้งหมดมีจำนวน 3.1 ล้านราย คิดเป็น 99% ของจำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทยแต่มีสัดส่วนมูลค่าเพียง 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น ในขณะที่สามารถสร้างการจ้างงานได้ถึง 12.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 72% ของการจ้างงานทั้งระบบ ผู้ประกอบการ SMEs จึงถือเป็นกระดูกสันหลังและฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก ทางรอดของประเทศไทยจึงอยู่ที่การสร้างผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้แข็งแกร่ง โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเป็นคนกลางเชื่อมธุรกิจทุกขนาดเข้าไว้ใน Supply Chain เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่โลกกำลังก้าวสู่ Next Normal ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและโรคอุบัติใหม่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการ SMEs ต้องปรับตัวอย่างมาก และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ SMEs ไทยและโอกาสเติบโตบนเส้นทางการค้าระหว่างประเทศของโลกยุคใหม่
แม้ SMEs ไทยจะมีอยู่จำนวน 3.1 ล้านราย แต่มีเพียง 1 ใน 3 ของ SMEs ทั้งหมดหรือราว 1 ล้านรายที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบ และจากยอดคงค้างสินเชื่อรวมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์กว่า 18.3 ล้านล้านบาท มีเพียง 1 ใน 5ของยอดคงค้างสินเชื่อทั้งระบบเป็นสินเชื่อ SMEs หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคาร เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องของธุรกิจ SMEs ไทย
“หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจ SMEs ยังคงมีปัญหาไปต่อไม่ได้ ถ้ามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลหมด หนี้เสียของผู้ประกอบการที่คนตัวเล็ก ๆ อาจจะแตะที่ 10% ดังนั้นปัญหาหนี้เสียของ SMEs เป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาเรื่องหนี้ก่อน โดยต้องทำความเข้าใจกับลูกหนี้ว่า การเป็นหนี้เสียเหมือนเป็นโรคร้ายแรงแต่รักษาหายได้ แต่ต้องไม่หนีแล้วเดินหน้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ว่าจะปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร หากเดินบัญชีได้ปกติอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง สถานะบัญชีก็จะกลับมาเป็นปกติ” ดร.รักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ดร.รักษ์ ได้ให้สูตร 2+1 สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในการบริหารเงินและลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจคือ ควรจะใช้บริการและมีวงเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ต่างสถาบัน 2 แห่ง และธนาคารรัฐ 1 แห่ง เพื่อความปลอดภัยด้านสภาพคล่อง และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือมาตรการของภาครัฐ อาทิ ซอฟต์โลน หรือนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ด้วยความตั้งใจจะผลักดันให้คนไทย โดยเฉพาะคนตัวเล็ก หรือ SMEs เห็นความสำคัญในการต่อยอดธุรกิจด้วยการส่งออก EXIM BANK จึงสนับสนุนให้ SMEs ไทย “กล้า” ก้าวออกจาก Comfort Zone ลบ Mindset เดิม ๆ ที่ทำให้กลัวการส่งออก ด้วยการปิดจุดอ่อนโดยการ เติมเต็มความรู้ ทั้งการอบรมให้ความรู้และเสริมทักษะการส่งออกสำหรับผู้ส่งออกมือใหม่ไปจนถึงระดับมือโปร โดยให้คำปรึกษาตลอดทั้งปี จัด Workshop ที่ให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้จริง รวมถึงจัดกิจกรรมและหลักสูตรที่พัฒนาร่วมกับพันธมิตร เติมโอกาส ด้วยการเสริมช่องทาง สร้างเครือข่าย แต่งตัวใหม่ให้พร้อมเดินหน้าสู่เวทีการค้าโลก อาทิ EXIM Thailand Pavilion / Business Matching / SMEs Export Studio และเติมทุนทุกวงจรธุรกิจ อาทิ EXIM Personal Biz สินเชื่อบุคคลเพื่อคนตัวเล็กEXIM Biz Transformation Loan สินเชื่อเพื่อการปรับปรุงธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ทันกับ Trendที่เปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว สร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์งานดีไซน์ ทันโลก ซึ่งฮวงจุ้ยของโลกอนาคตคือ Triple S
Sustainable Economy “ตลาดคนรักษ์โลก” เป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าตลาดสูง โดยเฉพาะตลาดการจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ Net-Zero Emission โดยสินค้าที่มีโอกาส ได้แก่ สินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากขยะ Plant-based Food รถยนต์ EV และ Eco-tourism
Silver Economy “ตลาดวัยเก๋า” ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นที่คาดว่าภายในปี 2583 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า โลกจะมีผู้สูงวัยซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปีราว 2,000 คนหรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากร ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต ความน่าสนใจของ Silver Economy พบว่ากำลังซื้อของกลุ่มผู้สูงวัยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม โดย Bruegel สถาบันวิจัยชั้นนำของยุโรประบุว่าผู้สูงวัยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทุกวัย 20% สินค้าที่มีโอกาส ได้แก่ อาหารเคี้ยวง่าย หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟัง และผ้าอ้อมผู้ใหญ่
SHEconomy “ตลาดตัวแม่” โดยเฉพาะในจีน เพราะปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจ และเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูง สินค้าที่มีโอกาส ได้แก่ เครื่องสำอาง วิตามินชะลอวัย ผลิตภัณฑ์ดูแลรูปร่าง เครื่องประดับ เสื้อผ้าแฟชั่น และสไตลิสต์ออนไลน์
ดร.รักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การปิดความเสี่ยงในการทำธุรกิจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ เพราะการค้าขายในปัจจุบันไม่ได้ใช้ L/C เพียงอย่างเดียวในการชำระค่าสินค้าและมีผู้ค้าหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายต้องตรวจสอบให้ดีว่าผู้ซื้อมีตัวตนหรือไม่ หากได้คู่ค้าที่ดี ก็จะช่วยให้สบายใจในการค้าขายมากขึ้น
“ในการดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย EXIM BANK มีความพร้อมที่จะลงไปช่วยผู้ประกอบการ SMEs ในทุกด้าน เพื่อให้ภารกิจเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลกปัจจุบัน” ดร.รักษ์ กล่าว
นี่คืออีกหนึ่งความพยายามของ EXIM BANK สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังที่ได้ดำเนินนโยบายและบริหารงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีการเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน