สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาคการบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการค้าปลีก modern trade ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับความกังวลด้านต้นทุนของผู้ประกอบการเริ่มลดลงเนื่องจากสามารถปรับเพิ่มราคาขายสินค้า/บริการเพื่อคงระดับกำไรไว้ได้ แต่ปัจจัยลบยังคงอยู่ที่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่คงตัวในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 54.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากภาคการบริการและการค้าปลีก ผลมาจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุน กำไร การจ้างงาน คำสั่งซื้อโดยรวมและการลงทุน ซึ่งมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 39.2 59.7 50.7 63.9 และ 53.9 จากระดับ 38.0 58.8 50.0 63.4 และ 53.6 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 58.8 จากระดับ 59.5 โดยเกือบทุกองค์ประกอบค่าดัชนีฯ อยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในแต่ละองค์ประกอบในระดับที่ดี มีเพียงด้านต้นทุนที่แม้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แต่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการ มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 57.1 จาก 54.4 ในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รองลงมาคือ ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 54.0 จากระดับ 52.1 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากราคาปุ๋ยที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 53.3 จากระดับ 53.4 ภาพรวมภาคการค้าทรงตัว เมื่อพิจารณารายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจค้าปลีก modern trade ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว ส่วนการค้าส่งชะลอตัวลงมีผลให้ลดการสต็อกสินค้าเนื่องจากต้นทุนสินค้าและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วน ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 53.8 ชะลอตัวลงจากราคาต้นทุนสินค้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรวมถึงยอดขายที่ชะลอตัวลง ทำให้ภาพรวมภาคการผลิตดัชนีความเชื่อมั่นลดลง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มการผลิตไม้และโลหะยังขยายตัวจากความต้องการทำป้ายโดยเฉพาะป้ายหาเสียงที่เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค และยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 57.8 จากระดับ 56.0 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวชัดเจนทั้งจากการผลิต การค้า รวมถึงการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับกำลังซื้อเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับเข้ามาในพื้นที่ ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่บินตรงจากจีนมาเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 57.7 จากระดับ 56.3 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับก่อน Covid-19 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงการเริ่มเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตามจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าในพื้นที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 53.0 เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวโดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคการบริการ ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประเภททานที่ร้านรวมถึงซื้ออาหารเป็นของฝาก ที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้กลุ่มสันทนาการในกลุ่มความบันเทิง ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.3 จากระดับ 52.8 ภาคการบริการยังคงปรับตัวดีขึ้น โดยได้กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตามการปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นตามสถานการณ์ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น เริ่มส่งผลกระทบกับยอดขายในภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคการค้า ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.1 จากระดับ 52.0 ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่ทรงตัว โดยเฉพาะกับภาคการค้าและภาคการบริการ โดยภาคการค้าเริ่มมีการเพิ่มสาขาใหม่เป็นรูปแบบรถเข็นหรือ kiosk ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยว ขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการบริการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 53.4 ปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พึ่งพากำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อย จึงไม่ค่อยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากนัก อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจการเกษตรยังขยายตัวได้ดีจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นและราคาปุ๋ยมีแนวโน้มลดลง
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ พบว่าการฟื้นตัวของธุรกิจที่ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ผู้ประกอบการ SME ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐโดยความช่วยเหลือที่ต้องการมากที่สุด คือ ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในรูปแบบของการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ รองลงมา คือ ด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยต้องการให้ขยายโครงการกระตุ้นกำลังซื้อที่เคยดำเนินการแล้วอีกครั้ง อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ด้านการตลาด ต้องการให้ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ส่งเสริมความรู้ในการทำการตลาด และการยกระดับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น