ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
แผนรถไฟภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 'กรมราง' ส่งไฮสปีด 2 เส้นทางเสริมทัพ
18 มี.ค. 2566

กรมการขนส่งทางรางถกร่วมสมาคมรถไฟภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMRA) ฝ่ายไทยชูไฮสปีดเทรน 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ - หนองคาย และรถไฟความเร็วสูงเชื่อสามสนามบิน เป็นรูทหลักเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และผู้โดยสารระหว่างประเทศ

สมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Railway Association: GMRA) ที่เกิดขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่ม GMS ได้แก่ ไทย เมียนมา  สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน เพื่อผลักดันการเดินรถไฟระหว่างกลุ่มประเทศ GMS เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งประเทศได้ไทยลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งสมาคม GMRA เมื่อปี 2557

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นตัวแทนประเทศไทย และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมรถไฟภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 พร้อมกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อทางรถไฟในภูมิภาค และบทบาทสำคัญของการขนส่งทางรางในการส่งเสริมความเชื่อมโยง และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และผู้คนภายในภูมิภาคอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ ยังฉายภาพความคืบหน้าของโครงการระบบรางที่จะสนับสนุนความร่วมมือของสมาคม GMRA ซึ่งจะส่งเสริมให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยปัจจุบันฝ่ายไทยอยู่ระหว่างผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) 2 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท  

2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของไฮสปีดเทรน ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) สถานะปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธา แบ่งออกเป็น 14 สัญญา ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 3 สัญญา ส่วนสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานตามสัญญา มีระยะเวลาในการดำเนินงานจำนวน 64 เดือน

อย่างไรก็ดี ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หน่วยงานเจ้าของโครงการได้ออกมาระบุว่า ร.ฟ.ท.คาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ คือ ภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากต้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ไปยัง สถานีปลายทางนครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 90 นาทีเท่านั้น ซึ่งมีความเร็วให้บริการสูงสุดที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงินลงทุนอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท ได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และยื่นขอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) แล้ว อยู่ในขั้นตอนรอเสนอขออนุมัติโครงการจากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2572

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้กับเอกชนตามที่สัญญาระบุไว้ โดยส่วนแรกที่จะส่งมอบคือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว ส่วนช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่ เร่งการเวนคืนในช่วงราชวิถี การแก้ไขปัญหารื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งมั่นใจว่าพื้นที่โครงการจะมีความพร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด 100% ภายในเดือน มิ.ย.2566

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ยังประเมินด้วยว่าจะสามารถเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้าง และให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน และเริ่มทดสอบระบบ ซึ่งไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินนี้ หากเปิดให้บริการแล้วไม่เพียงอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินหลักของประเทศไทย แต่จะเป็นโครงข่ายสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทาง และการขนส่งในประเทศกลุ่ม GMS

“ความร่วมมือของสมาคมภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป้าหมายเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรางแบบไร้รอยต่อ รถไฟของประเทศสมาชิกจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน คือ สามารถเดินทางเชื่อมต่อใช้ระบบรางด้วยร่วมกัน ขนส่งสินค้ากันอย่างสะดวก ผ่านระบบภาษีอากรแบบเดียวกัน”

อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางรางเชื่อมั่นว่า การประชุมดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ และร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงทางรถไฟในภูมิภาค นำไปสู่เป้าหมายเพิ่มการเชื่อมโยงทางรถไฟเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ ความปลอดภัยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการขนส่งสินค้าและคนโดยทางรถไฟ ทั้งภายในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และประเทศอื่นๆ

สำหรับสมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีสถานภาพเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ภายใต้แนวทางของการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและการประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคมขนส่งของ GMS โดยปัจจุบันสมาคมฯ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจัดทำร่างกรอบความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อการขนส่งทางรางข้ามพรมแดน (FA-CBRTC) ร่วมกันเพื่อให้รถไฟของกลุ่มแม่น้ำโขงมีความเข้มแข็ง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...