ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ร.ฟ.ท.ยันสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์บริการพร้อมครบวงจร
31 มี.ค. 2566

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจง กรณีนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นเรื่องการย้ายการให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ของการรถไฟฯ ซึ่งเริ่มให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมานั้น ว่าการเปิดให้บริการรถไฟทางไกล 52 ขบวน ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขณะที่สถานียังไม่มีความพร้อม 

รฟท. ขอชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีความพร้อมและเปิดให้บริการแก่ประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว 

ทั้งบริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมถึงการเปิดเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะเวลาถึง  447 วัน มีประชาชนเข้าถึงบริการวัคซีนมากถึง 3.5 ล้านคน  ดังนั้น การที่ระบุว่าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไม่มีความพร้อมจึงไม่ถูกต้อง เพราะมีผู้เข้าใช้บริการแล้วนับล้านคน

ที่สำคัญสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สามารถให้บริการแก่ ประชาชน ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย  ทั้งรถไฟฟ้า  รถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายเส้นทาง อีกทั้งยังเป็นสถานีรถไฟที่ออกแบบเพื่อมวลชน  สะดวกสบาย ปลอดภัย ครอบคลุมทุกคนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการสร้างให้มีชานชาลาสูง (110 ซม.) สะดวกต่อการขึ้นลงขบวนรถ โดยพื้นชานชาลาอยู่ระดับเดียวกับพื้นรถ

นอกจากนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังได้เป็นต้นแบบสถานีอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในอาเซียน ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัยจำนวนมาก อาทิ  หุนยนต์ต้อนรับ SRT Bot วีลแชร์อัจฉริยะ กล้องวงจรปิดอัจฉริยะดูแลความปลอดภัย  ขณะเดียวกันยังมี บันไดเลื่อน เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ศูนย์อาหาร ที่จอดรถสำหรับคนพิการ ลิฟท์  ห้องสุขาที่ทันสมัย และเพียงพอ รวมถึงมีระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดพักรอ เป็นต้น

สำหรับประเด็นการย้ายขบวนรถไฟทางไกล 52 ขบวน จากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นการสร้างภาระ ค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพราะต้องใช้บริการระบบขนส่งอื่นๆ เพื่อเดินทางมาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

รฟท.ขอชี้แจงว่า เหตุผลในการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทางของขบวนรถไฟทางไกล มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น เป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่จะให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางของประเทศ โดยเป็นแผนที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้วตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติโครงการเมื่อปี  2553 และเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 ที่สำคัญอยู่ในช่วงที่นายประภัสร์ เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ด้วย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของการรถไฟฯ ในยุคนี้แต่อย่างใด

ในสมัยที่นายประภัสร์ จงสงวน เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2555 ก็ได้มีการสนับสนุนการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อหรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้แบบสถานีกลางบางซื่อ แต่เพราะเหตุใดในตอนนี้นายประภัสร์จึงกลับมาคัดค้านไม่ให้เปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นแผนที่วางไว้เดิมตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง

 

ทั้งนี้ รฟท.และกระทรวงคมนาคม ได้มีมาตรการช่วยเหลือดูแลผู้โดยสารทั้งรถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะฟรี ดังนี้

- ผู้ใช้บริการรถโดยสายทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ประสงค์จะลงสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมืองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 1 ปี

- ผู้ใช้บริการรถโดยสารเชิงสังคม สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 1 ปีเช่นกัน โดยต้องเป็นผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วประเภทตั๋วเดือน ในสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน ที่หยุดรถกม.19 ที่หยุดทุ่งสองห้อง และที่หยุดรถกม.11 ที่รถไฟไม่จอดให้บริการ

 นอกจากนี้ รฟท. ยังประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จัดรถ Shuttle Bus  และรถประจำทาง รับ-ส่งผู้โดยสารตามสถานีรถไฟรายทาง ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหัวลำโพง เหมือนนั่งรถไฟปกติ โดยให้บริการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 2 เส้นทาง  ซึ่งผู้โดยสาร สามารถแสดงตั๋วรถไฟต่อพนักงานเก็บค่าโดยสารเมื่อใช้บริการ สามารถขึ้นรถได้ที่ประตู 12 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และป้ายรถเมล์สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ดังนี้

1. จัดเดินรถ Shuttle Bus ให้บริการฟรี เส้นทางบนทางด่วน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” จำนวน 6 คัน ตั้งแต่เวลา 04.30 – 23.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟ ทั้ง 2 แห่ง

2.จัดเดินรถเฉพาะกิจให้บริการฟรี เส้นทางปกติ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟสามเสน สถานีรถไฟโรงพยาบาลรามาธิบดี สถานีรถไฟยมราช และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ดังนี้

  • จัดรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู จำนวน 10 คัน โดยมีท่าต้นทาง 2 แห่ง คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
  • จัดเดินรถโดยสาร ตั้งแต่เวลา 04.30 – 00 น. ปล่อยรถคันแรกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 04.30 น. มีความถี่ในการปล่อยรถทุก 15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน (04.30 – 10.00 น. และ 16.00 – 18.00 น.) ส่วนช่วงเวลาปกติมีความถี่ในการปล่อยรถทุก 30 นาที ทั้งนี้ เฉพาะวันที่ 19 มกราคม 2566 จัดเดินรถโดยสารตั้งแต่เวลา 12.00 – 23.00 น. 

อย่างไรก็ตาม ปกติขณะที่มีการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกลมายังสถานีหัวลำโพง ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็จะมีการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะอื่นเพิ่มเติม เพื่อเดินทางไปที่หมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเฉพาะการย้ายมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ในช่วงเริ่มอาจต้องปรับตัวบ้างเพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับเส้นทางเท่านั้น  ซึ่งยืนยันบริเวณโดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  มีระบบคมนาคมขนส่งที่ครบถ้วนทุกระบบ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง   รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  รถโดยสารสาธารณะ จึงมั่นใจได้ว่าในอนาคต สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะเป็นสถานีปลายทางที่ประชาชนได้รับความสะดวกไม่น้อยกว่าสถานีหัวลำโพงอย่างแน่นอน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...