น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งการอุปโภค บริโภคและการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม โดยศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ได้กำหนดให้มีแหล่งน้ำอย่างน้อยร้อยละ 30 ในแปลงเกษตรกรรม ซึ่งต่อมามีการนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบเกษตรผสมผสานสร้างให้เกิดผลผลิตที่หลากหลาย เพียงพอต่อการบริโภคและมีรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นภูมิคุ้มกันเกษตรกรให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยความสำคัญของน้ำปรากฏ ตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความตอนหนึ่งว่า “หลักสำคัญว่าต้องมี น้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เกิดผลประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญให้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและขยายผล พร้อมทั้งนำแบบอย่างที่ทรงวางรากฐานไว้ มาดำเนินการให้แพร่หลายและเกิดประโยชน์ในวงกว้าง และเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงจัดทำโครงการ “น้ำคือชีวิต : ศาสตร์พระราชาสูแปลงเกษตรผสมผสานประชารัฐ” เพื่อเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยการส่งเสริม สนับสนุน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในลักษณะประชารัฐ
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า โครงการ “น้ำคือชีวิต : ศาสตร์พระราชาสู่แปลงเกษตรผสมผสานประชารัฐ” ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นการดำเนินการ ในรูปแบบประชารัฐ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นั่นคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่จัดหาที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ขนาด 5 – 10 ไร่ มาจัดทำแปลงเกษตรผสมผสานขนาดแปลงละ 1 – 2 งาน จัดหาแหล่งน้ำ และ วางระบบการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตรผสมผสานได้อย่างเพียงพอ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดประชุมประชาคมหมู่บ้านคัดเลือกคนยากจน จำนวน 10 - 20 รายที่มีความมุ่งมั่น ในการพัฒนาตนเองโดยไม่ร้องขอความช่วยเหลือแต่ฝ่ายเดียว เข้าทำกินในแปลงที่ดินที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวหรือคนละ 1 – 2 งาน โดยพิจารณาจากผู้มีคุณสมบัติ คือ ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ขยันขันแข็ง พึ่งตนเอง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อบายมุข หรือได้ลด ละ เลิกอบายมุขแล้ว มีจิตใจสาธารณะ ช่วยเหลือเกื้อกูล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยนำปราชญ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จ มาให้ความรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน และถ่ายทอดการใช้ชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ส่วนราชการ จัดอบรมให้ความรู้และสนับสนุนการประกอบอาชีพ เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ/สหกรณ์การเกษตร ให้ความรู้เรื่องการรวมกลุ่มอาชีพและการจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายครัวเรือน สำนักงานเกษตรอำเภอ สนับสนุนเมล็ดพันธ์พืชและให้ความรู้การปลูกพืชที่เหมาะสม การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สนับสนุนพันธ์สัตว์ เช่น หมู ไก่ ไส้เดือน จิ้งหรีด สำนักงานประมงอำเภอหรือจังหวัด สนับสนุนพันธ์ปลา กุ้ง และให้ความรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำ สำนักงานพัฒนาที่ดิน ให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงดิน และวางแผนการใช้ที่ดิน เป็นต้น ส่วนภาคธุรกิจเอกชน ก็จะให้ความรู้และสนับสนุนเรื่องการตลาด การจัดทำบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งจัดหาตลาดและ รับซื้อผลผลิตจากการเกษตรในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสนับสนุนการกระจายผลผลิตทางการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกร