“กิจการอวกาศของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระยะเริ่มแรกหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบการให้สัมปทานเป็นระบบการอนุญาต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายหรือทิศทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการ หรือกิจกรรมอวกาศให้มีความชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจอวกาศ ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอวกาศของตลาดโลกได้”
นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า ภายในปี 66 นี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศจะต้องเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้ง สำนักงานกิจการอวกาศที่มีสถานะเป็นองค์การมหาชน และยุบสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ให้อยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในลักษณะเอกชนและมีความเป็นเอกภาพ โดยหลังจากเฮียริ่งครั้งนี้จะเสนอรัฐบาลชุดใหม่ เห็นชอบเพื่อทำให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน จากที่เคยมีสถิติว่าเม็ดเงิน ในอุตสาหกรรมดาวเทียมที่เกี่ยวเนื่องมีมากกว่า 3 แสนล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า
“การประชุมสัมมนาครั้งนี้เพื่อรับทราบแนวคิดในการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ของประเทศ และการนำเสนอ (ร่าง) แผนการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ หรือ New Space Economy ของประเทศไทย รวมถึงเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อไปปรับปรุง (ร่าง) แผนการส่งเสริมฯ ให้มีความครบถ้วน และสมบูรณ์ สามารถใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
ขณะที่ ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สดช. กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาแผนการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ของประเทศไทย เป็นการตอบสนองต่อการขยายตัวของกิจการและกิจกรรมอวกาศ รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ ที่เน้นให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจการและกิจกรรมอวกาศ โดยมุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน