นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย ในเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.79 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยชะลอตัวต่อเนื่อง และมั่นใจว่าปีนี้จะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
นายบุณย์ธีร์ เสริมว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินร่วมกับผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก “วิน-วิน โมเดล” ในการดูแลราคาสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความเหมาะสมทุกช่วงการค้า ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการตรึงราคาและจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางการจำหน่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลีสหราชอาณาจักรเม็กซิโกอินเดีย และเกาหลีใต้รวมถึงต่ำเป็นอันดับ 2 จาก 7 ประเทศอาเซียนที่ประกาศตัวเลข คือ ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์อินโดนีเซียและเวียดนาม
อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ในเดือนมีนาคมนี้เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.22 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.74หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.22 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.47 ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.27 (MoM) เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.75 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.93 (YoY)สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 2566 คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลาย รายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อติดตาม ดูแล และแก้ไขสถานการณ์และปัญหาทางการค้าอย่าง
ใกล้ชิด เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากระหว่างร้อยละ 2.0 – 3.0 (ค่ากลาง 2.5) เป็นระหว่างร้อยละ 1.7 – 2.7 (ค่ากลาง 2.2)