“พาณิชย์”เดินหน้าผลักดันการค้าชายแดนใน 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชาและสปป.ลาว เตรียมส่งเสริมการค้าขายผ่านด่านชายแดน จุดผ่อนปรน ด่านการค้าประเพณี และตลาดที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนของไทยและเพื่อนบ้าน และมีแผนที่จะผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้น
นางกุลณี อิศดิศัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพาณิชย์ภาค 1 เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันการค้าขาย การส่งออก และขยายการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดันให้จังหวัดที่ติดชายแดนที่มีจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรน และด่านการค้าประเพณี มีการทำการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงไปถึงการท่องเที่ยวที่จะส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้น
โดยจังหวัดเป้าหมายที่จะเร่งส่งเสริม ได้แก่ จังหวัดหนองคาย โครงการตลาดนัดประชารัฐ ไทย – ลาว เบื้องต้นเล็งไว้ที่จุดผ่อนปรนบ้านเปงจาน อำเภอรัตนวาปี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับด่านประเพณีเมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ตลาดเปิดทำการซื้อขายสัปดาห์ละ 1 วัน คือ วันอาทิตย์ แผงค้าประมาณ 262 แผง มีมูลค่าการค้าซื้อขายมูลค่าการซื้อขายวันละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ปีละประมาณ 30 ล้านบาท สินค้าที่ทำการส่งออก ได้แก่ สินค้าเกษตร อาหาร สินค้าอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าจาก สปป.ลาว จะเป็นเครื่องจักสาน อาหารพื้นบ้าน สัตว์น้ำตามฤดูกาล โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ รอยพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทนาหงส์ วัดพระบาทโพนสัน หาดบ้านโพนแพง และแพพันไร่ เป็นต้น
จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว มีจุดผ่านแดนถาวร 1 จุด และจุดผ่อนปรน 2 จุด จุดผ่านแดนถาวร อยู่บ้านพันลำ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอบึงกาฬ ตรงข้ามเมืองปากชัน แขวงบอลิคำไช เปิดทำการทุกวันจุดผ่อนปรน 2 จุด คือ บ้านหวังคาด ตำบลปากคาด อำเภอบึงกาฬ และบ้านบุ่งคล้า ตำบลบุ่งคล้า อำเภอ บุ่งคล้า มูลค่าการซื้อขายรวมปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำมันดีเซล ปูนซีเมนต์ รถกระบะ รถเก๋ง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้านำเข้า พลังงานไฟฟ้า ไม้แปรรูป ชาผง มันสำปะหลัง โดยมีโครงการจัดตั้งตลาดประชารัฐไทย–ลาว ณ ลานริมโขง ถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ เปิดทำการซื้อขายทุกวันอังคารและวันศุกร์ มีจำนวนผู้ขาย 227 ราย และผู้ขายจากแขวงบอลิคำไชย สปป.ลาว 20 ราย มูลค่าการซื้อขายเดือนละ 4–5 ล้านบาท หรือปีละ 48–60 ล้านบาท
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือ สปป.ลาว และกัมพูชา ด้าน สปป.ลาว มีด่านพรมแดนถาวร 2 ด่าน คือ ด่านพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร และด่านพรมแดนปากแซง อำเภอนาตาล มีจุดผ่อนปรน 4 จุด ได้แก่ 1.หน้าที่ทำการเทศบาลตำบลเขมราฐ 2.บ้านสองคอน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร 3.บ้านด่านเก่า ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม 4.ช่องตาล บ้านหนองแซง ตำบลโพนงาม อำเภอบุณฑริก ด้านที่ติดต่อกับกัมพูชา คือ จุดผ่อนปรนช่องอานม้า อำเภอน้ำยืนสินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ของใช้ประจำวัน ยานพาหนะ วัสดุก่อสร้าง สินค้าที่นำเข้า สินค้าเกษตรกรรม พลังงานไฟฟ้า สินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการซื้อขายปีละ 1,230–1,600 ล้านบาท จังหวัดอุบลราชธานีมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งเป็นตลาดประชารัฐไทย–ลาว ขึ้น ณ ตลาดกลางผักและผลไม้ บริษัท อุบลเจริญศรี (สาขาวารินชำราบ) จำกัด พื้นที่ 45 ไร่ 520 แผง ลานจอดรถ 1,500–2,000 คัน ซื้อขายทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง จำนวนผู้ซื้อ 2,000 ราย/วัน จำนวนผู้ขาย 800 ราย/วัน ปริมาณการซื้อขาย 5,000,000 บาท/วัน เดือนละ 150 ล้านบาท ปีละ 1,800 ล้านบาท สินค้าจะเป็นผักและผลไม้ตามฤดูกาล
จังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมในพื้นที่มีศักยภาพ เพราะมีสะพานมิตรภาพ 2 เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับสะหวันนะเขต สปป.ลาว โดยใช้เส้นทางเชื่อมต่อไปยังเวียดนามตอนใต้ โดยได้มีโครงการจัดตั้งตลาดประชารัฐไทย–ลาว ณ บริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทยลาว จำหน่ายทุกวันศุกร์ จำนวน 161 แผง มูลค่าการซื้อขายระหว่าง 20–30 ล้านบาท/ปี สินค้าเป็นประเภทผ้าทอมือ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ สินค้าเกษตรพื้นเมือง
จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ติดต่อกับ สปป.ลาว ระหว่างอำเภอชานุมาน และเมืองไซภูทอง เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต มีจุดผ่อนปรน 1 แห่ง คือ จุดผ่อนปรนยักษ์คุ มีด่านประเพณี จำนวน 6 แห่ง มีมูลค่าการซื้อขายปีละประมาณเกือบ 60 ล้านบาท
นอกจากนี้ จังหวัดที่ติดชายแดน ยังมีแผนทีจะจัดงานส่งเสริมการค้าชายแดนในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.2560 โดยการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การประชุมลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า เพื่อให้การค้ามีความสะดวกรวดเร็วและเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน คือ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
นางกุลณี กล่าวถึงผลสำเร็จการจัดงาน ESAN Expo 2017 ที่ผ่านมา ( จัดเมื่อ วันที่ 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2560) ซึ่งจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีเด่นชั้นเยี่ยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ได้รับความสำเร็จอย่างดี มีมูลค่าการซื้อขายในงานกว่า 50 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ OTOP SMEs สินค้าเกษตรสดและแปรรูป