กรุงเทพฯ/ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ ‘พอช.’ จัดหาที่ดิน 3 แปลง ในย่านมีนบุรีและนนทบุรี เนื้อที่รวม 6 ไร่เศษ ราคา 20 ล้านบาทเศษ รองรับชาวบ้าน 140 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา และชาวบ้านที่ถูกเอกชนไล่ที่
วันที่ 25 กรกฎาคม เวลา 14.30 น. ที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM (Bangkok Commercial Asset Management Public Company Limited) เขตบางรัก กรุงเทพฯ มีการแถลงข่าว “ความร่วมมือระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองลาดพร้าว และชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธี มีนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM เป็นสักขีพยาน และมีการลงนามในการซื้อขายที่ดินระหว่างผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กับผู้แทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ฯ
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม และโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา โดยโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำฯ พอช.มีแผนรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่ 3 แนวทาง คือ 1.หากชุมชนใดที่รื้อบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนแล้ว หากมีพื้นที่เหลือก็สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ โดยเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ 2.จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ในโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ และ 3.หากไม่มีพื้นที่ริมคลองเหลือจะใช้วิธีจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อก่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่
“ที่ผ่านมามีการจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่จากเอกชนแล้ว 2 แปลง เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในบริเวณ เขตสายไหม ส่วนในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ฯ กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ โดยจัดหาที่ดินของบริษัทฯ เพื่อรองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา รวมทั้งชุมชนที่โดนเอกชนไล่ที่ รวมทั้งหมด 3 แปลง สามารถรองรับชาวบ้านได้จำนวน 140 ครัวเรือน” นายไมตรีกล่าว
สำหรับที่ดินทั้ง 3 แปลงของ BAM คือ 1.ที่ดินโครงการบึงนายพล เขตมีนบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ ราคา 5,200,000 บาท(โอนที่ดินแล้ว) รองรับชาวชุมชนจากโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำฯ จำนวน 40 ครอบครัว 2.ที่ดินโครงการ บึงนายพล เขตมีนบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ ราคา 5,200,000 บาท(โอนที่ดินแล้ว) รองรับชาวชุมชนโรงช้าง จำนวน 37 ครอบครัว (เดิมชุมชนโรงช้างปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินของเอกชนย่านบางกะปิมานานหลายสิบปี ต่อมาถูกฟ้องร้องขับไล่ในปี 2558 จึงได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช.) และ 3.ที่ดินบริเวณอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ราคา 10,165,000 บาท ซึ่งมีการเซ็นสัญญาซื้อขายในวันนี้ รองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา จำนวน 4 ชุมชน รวม 63 ครัวเรือน รวมราคาที่ดินทั้ง 3 แปลง ราคา 20,565,000 บาท
นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินในโครงการความร่วมมือระหว่าง BAM และ พอช. ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็น ส่วนหนึ่งของโครงการบ้านมั่นคง มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาที่อยู่ให้แก่ผู้ที่รายได้น้อย โดย BAM และ พอช. ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงาน มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี และมีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
ทั้งนี้ BAM มีหน้าที่หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพให้กลับมาเป็นหนี้ที่ดี และ BAM มีลูกหนี้การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย (Housing Loan) ค่อนข้างเยอะ จึงมีความเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากมีบ้าน ซึ่งลูกหนี้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง และต้องการได้รับบ้านกลับคืน BAM ก็ได้มีการดำเนินโครงการ “สุขใจได้บ้านคืน” เพื่อเปิด โอกาสให้ลูกหนี้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ พอช. มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนต่างๆ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในด้านต่างๆของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่องค์กรทั้งสองแห่งได้มีโอกาสร่วมมือกันผ่านโครงการบ้านมั่นคง ซึ่ง BAM มี ศักยภาพและมีความพร้อม เพราะมีทรัพย์สินรอการขายทั่วประเทศที่อยู่ในทำเลที่ดีและมีคุณภาพ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 15,000 รายการ เพื่อให้ พอช. ได้พิจารณา และนำมาดำเนินโครงการบ้านมั่นคงให้กับชุมชนต่างๆ ต่อไป
ด้านนายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผอ.พอช.กล่าวว่า พอช.มีแผนงานรองรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีความเดือดร้อน โดย พอช.จะสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อเป็นกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นจะต้องจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลสำหรับการทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆ จากนั้นชุมชนที่มีความพร้อมจะต้องจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขอรับการสนับสนุนจาก พอช. ทั้งเรื่องงบช่วยเหลือ งบสนับสนุน และสินเชื่อ เช่น ชุมชนริมคลองจะได้รับงบช่วยเหลือครัวเรือนละประมาณ 140,000 บาท งบสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท เมื่อ พอช.อนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาแล้ว สหกรณ์ฯ ก็จะนำเงินไปบริหารและจัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างบ้านต่อไป
ส่วนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาและจะไปก่อสร้างชุมชนใหม่ในที่ดิน BAM ย่านอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี มี 4 ชุมชน คือ ชุมชนมิตรคาม 1, มิตรคาม 2 , ศาลเจ้าแม่ทับทิม และราชผาทับทิม ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตดุสิต รวม 63 ครัวเรือน ขนาดที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา เป็นที่ดินถมแล้ว
ตามแผนงานหลังจากเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินแล้ว จะเริ่มปรับหน้าดินเพื่อเริ่มก่อสร้างบ้านได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X 8 ตารางวา โดย พอช.สนับสนุนงบช่วยเหลือและงบสร้างสาธารณูปโภคหลังละ 75,000 บาท และสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านไม่เกิน 360,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือน หรือจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2561
นายสมชาติกล่าวด้วยว่า ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยามีทั้งหมด 12 ชุมชน รวม 309 ครัวเรือน ซึ่งนอกจาก 4 ชุมชนที่จะไปปลูกสร้างบ้านใหม่ในที่ดิน BAM ย่านบางใหญ่ จำนวน 63 ครัวเรือนแล้ว ยังมีอีก 5 ชุมชน รวม 64 ครัวเรือนที่ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในแฟลต ขส.ทบ.ย่านเกียกกายตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และ 2 ชุมชน รวม 23 ครัวเรือนที่กำลังจะเข้าไปอยู่อาศัยที่ โครงการบ้านเอื้ออาทรท่าตำหนัก จ.นครปฐม ของการเคหะแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีชุมชนวัดเทวราชกุญชร จำนวน 33 ครัวเรือนที่จะขออยู่อาศัยในที่ดินเดิม โดยยืนยันว่าชุมชนของตนเองเป็นชุมชนที่มีสัญญาเช่าที่ดินจากวัดเทวราชกุญชร ส่วนอีก 126 ครัวเรือนไม่เข้าร่วมโครงการ
ส่วนชุมชนริมคลองที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อมีทั้งหมด 52 ชุมชน รวม 7,081 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เมื่อรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนแล้วสามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ โดยปรับผังชุมชนและก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งชุมชน ขณะนี้ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว 12 ชุมชน รวม 839 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ (รวมทั้งที่ดินบึงนายพล เขตมีนบุรี ของ BAM) นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่จัดซื้อที่ดินใหม่จากเอกชนจำนวน 2 แปลงในเขตสายไหม กำลังก่อสร้างบ้านใหม่รองรับชาวบ้านได้ 468 ครัวเรือน