ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 (ศปถ.) สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 368 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 368 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 4 วัน (11-14 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,422 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 158 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,431 คน กำชับจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานตามบริบทในพื้นที่ โดยใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วตรวจตราในตำบล หมู่บ้าน และพื้นที่จัดงาน คุมเข้มดื่มแล้วขับ - ขับรถเร็ว รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย หอกระจายข่าวในพื้นที่เกี่ยวกับกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและการเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย
นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 368 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 368 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด 35.60% ดื่มแล้วขับ 28.53% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 83.07% ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง 37.77% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 36.96% บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง 78.80% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01 - 20.00 น. 11.68% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 30 - 39 ปี 17.96%
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ และพิษณุโลก (จังหวัดละ 3 ราย) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,862 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,368 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 351,228 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 52,422 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 15,467 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,144 ราย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (วันที่ 11 ? 14 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,422 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 158 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,431 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และน่าน (จังหวัดละ 45 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (12 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (48 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 12 จังหวัด
นายโชตินรินทร์ กล่าวต่อว่า วันนี้หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่สูง ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับแผนการดำเนินงานตามบริบทในพื้นที่ โดยใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วตรวจตราในตำบล หมู่บ้าน และพื้นที่จัดงาน ตลอดจนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายและหอกระจายข่าวเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายที่กำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย พร้อมเข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและการเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ให้จังหวัดเตรียมพร้อมมาตรการในการรองรับการเดินทางกลับของประชาชน โดยจังหวัดที่มีจุดตรวจรถ พนักงานขับรถสาธารณะ (Checking Point) ให้ขนส่งจังหวัดดำเนินการกำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลในระบบ GPS และพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนของพนักงานขับรถ หากพบการกระทำความผิดให้ตักเตือนและดำเนินการตามมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลในช่วงวันที่ 13 - 14 เมษายน 2566 พบว่า ในพื้นที่เขตเมืองและเทศบาลมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการเล่นน้ำสงกรานต์และมีการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ผู้ขับขี่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็ว และการขับขี่ด้วยความคึกคะนอง จึงประสานให้จังหวัดเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยบริเวณสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่จัดงานรื่นเริงที่มีผู้ไปรวมตัวเป็นจำนวนมาก โดยกวดขันเป็นพิเศษในช่วงเวลาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการขับขี่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
นอกจากนี้ ในช่วงวันนี้และวันพรุ่งนี้ (วันที่ 15 - 16 เมษายน 2566) หลายพื้นที่ของประเทศอาจมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ซึ่งสภาพถนนที่เปียกลื่นและทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางในช่วงที่มีฝนตก และสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารยานพาหนะ เพื่อให้การเดินทางและการเล่นน้ำสงกรานต์เป็นไปด้วยความปลอดภัย รวมทั้งเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย