กำนันชาตรี ดอนชะเอม จัดอุปสมบทบุตรชายพร้อมหลาน จัดยิ่งใหญ่อลังการแอ๊ด คาราบาว เล็ก คาราบาว เทียรี่ เมฆวัฒนา แบบเต็มวง สำหรับขบวนแห่นาคด้วยช้างแสนรู้ 1 เชือกจากราชบุรี เกวียนเทียมวัว ม้า พร้อมโปรยทานกว่า 4 แสนบาท มีประชาชนร่วม 2 พันคน ส่งนาดเข้าวัด
วันนี้ 19 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 99/3 หมู่ 9 ดอนชะเอม อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นายชาตรี วงษ์น้อย กำนันตำบลตำบลดอนชะเอม และนางพิศมัย วงษ์น้อย ได้ทำพิธีอุปสมบทบุตรและหลานคือ นาย วุฒิภัทร (เอฟ) วงษ์น้อย บุตรชาย และนายกิตติพศ (กอล์ฟ) จันทร์บุตร์ (หลาน) ณ วัดทุ่งมะกรูด ตำบลดอนชะเอม อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยในงานจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน วันแรก ได้จัดพิธีปลงผมพร้อมพิธีเทศน์สอนนาคก่อน ส่วนช่วงบ่ายได้จัดขบวนแห่รับนาค จาก วัดทุ่งมะกรูดพัฒนาธรรม เพื่อนำนาคกลับมายังบ้าน โดยช่วงขบวนแห่รับนาคเพื่อกลับมายังบ้านในระยะทาง 1 กิโลเมตร ขบวนนางรำพร้อมแตรวง 3 วง ใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง จนนาคทั้ง 2 ต้องหนีออกจากขบวนเพื่อไปทำพิธีกราบลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และพิธีอาบน้ำ พิธีขอขมา พ่อ-แม่ ปู่ย่า ตา ยาย สาเหตุเนื่องจากนางรำไม่ยอมให้มีเคลื่อนขบวน แม้สภาพอากาศจะร้อนเกิน 40 องศา ก็ตามเพราะต้องการสนุกสนานกับการรำรับนาคในครั้งนี้
ส่วนในช่วงค่ำทางเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนกว่า 500 โต๊ะ ภายในงานกำนันชาตรีจัดให้ชาวบ้านได้พบกับวง “แอ๊ด คาราบาว เล็ก คาราบาว เทียรี่ เมฆวัฒนา” แบบเต็มวง โดยในงานมี ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายอนุชา หอยสังข์ นายอำเภอท่ามะกา แขกผู้มีเกียรติ ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ประชาชน เดินทางมาร่วมงานอุปสมบทจำนวนมากจนแน่นในงาน และงานนี้สนุกสุดมันส์กันยันเที่ยงคืน งานยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานปิดทองฝังลูกนิมิต เจ้าภาพติดไฟตามลายทางก่อนถึงบ้านงานระยะทางเกิน 10 กิโลเมตร สว่างสวยงามตระการตามากๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นวันที่สอง นายชาตรี วงษ์น้อย และนางพิศมัย วงษ์น้อย ได้จัดช้างจากจังหวัดราชบุรี ขบวนม้า เกวียนเทียมวัว เพื่อนำนาค จากบ้าน พร้อมขบวนกลองยาวแตรวงใหญ่รางวัลชนะเลิศ จำนวน 3 วง มาทำการแห่นาคเพื่อไปอุปสมบทยัง วัดทุ่งมะกรูด พัฒนาธรรม โดยในขบวน นายชาตรี วงษ์น้อย และนางพิศมัย วงษ์น้อย เตรียมเงินใส่ลูกไข่ ห่อใส่ริบบิ้นอย่างสวยงามโปรยทานรวมกว่า 400,000 บาท ให้กับประชาชนที่มาร่วมขบวนแห่กว่า 2 พันคน
สำหรับขบวนแห่ไปถึงยังพระอุโบสถ วัดทุ่งมะกรูด พัฒนาธรรม แห่นาควนพระอุโบสถจำนวน 3 รอบ จากนั้นได้ทำการโปรยทานจำนวนกว่า 400,000 บาท มีผู้ไปรอรับการโปรยทานเป็นจำนวนมาก และทำให้บริเวณพระอุโบสถเกิดฝุ่นตลบจากการรับแย่งทานในครั้งนี้ ซึ่งทางเจ้าภาพได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ อพ.ปร. ไปดูแลป้องกันเหตุจำนวนหลายนาย เสร็จจากการโปรยทาน ก็ได้นำนาคทั้ง 2 นาคเข้าไปยังพระอุโบสถ เพื่อทำพิธีอุปสมบท โดยการอุปสมบทครั้งนี้ ได้มี พระครู พิสาลกาญจนกิจ รองเจ้าคณะอำเภอท่ามะกา เจ้าอาวาสวัดตะค้ำเอน เป็นอุปัชฌาย์ พร้อมเจ้าอาวาสวัดทุ่งมะกรูด พัฒนาธรรม เป็นพระคู่สวด เสร็จจากการอุปสมบทเจ้าภาพได้จัดฉลองพระใหม่เป็นเสร็จสิ้นพิธีในครั้งนี้...........เสียง พ่อแม่ และนาคที่บวช..............กล่าวทิ้งท้าย................................
สำหรับประเพณีการบวชพระ เป็นการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ตามประเพณีปฏิบัติ ชายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท (บวชพระ) เมื่อผ่านการบวชแล้ว คนก็จะเรียกว่า ทิด เป็นคำเรียก บัณฑิต คล้ายกับการจบปริญญาในปัจจุบัน ส่วนใครที่ไม่ได้บวชก็จะเป็นคนดิบ เพราะยังไม่ได้ฟอกจิตใจ ด้วยการบวช เลยไม่ได้เป็นบัณฑิต
ฉะนั้น ผู้ที่ผ่านการบวช จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจความจริงของชีวิต เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนแห่งความจริงในโลก ที่สอนให้มนุษย์รู้สาเหตุของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ช่วยให้มนุษย์มีสติสัมปชัญญะที่จะนำไปสู่ในทางที่ดีที่ชอบ การอุปสมบทจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะต่อผู้ที่จะเป็นหลักของครอบครัว อีกทั้งผู้บวชยังได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมครูของเรา ผู้บวชสามารถนำข้อปฏิบัติที่ได้จากการบวชพระมาใช้ในการดำรงชีวิตสืบต่อไปได้อย่างมีความสุข
การบวชตามประเพณีแล้ว การบวชตามเหตุผล ดังนี้
1. บวชเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สังคมไทยส่วนใหญ่นับถือ และสืบทอดกันมาเป็นช้านาน ประเพณีบวชเรียน คือการบวชเพื่อที่จะเรียนหนังสือ ซึ่งอาจจะเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรและเพื่อเชิดชูความรุ่งเรือง
2. บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ รวมไปถึงปู่ย่าตายายที่เลี้ยงดู เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่า พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลือง ถือว่าได้ขึ้นสวรรค์ น่าจะเป็นอุบาย ให้ลูกได้ชักนำ ชักชวนพ่อแม่ เข้าวัดทำบุญ ให้พ่อแม่เข้าถึงพระธรรม และได้บุญได้กุศลตามไปด้วย
3. บวชเพื่อสืบสานตามประเพณีคนไทย ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากนิยมให้ลูกหลาน ได้เข้าสู่การบรรพชาอุปสมบท เมื่อผู้ชายอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือที่เรียกว่าอายุครบบวช ก็ต้องบวชพระ ข้อนี้ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว
4. บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล หรือ บวชหน้าไฟ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งผู้บวชมีความศรัทธาอยากจะอุทิศผลบุญของการบวชให้นั่นเอง
5. บวชเพื่อศึกษาพระธรรม หรือบวชเรียน เป็นทางเลือกของการศึกษาอีกทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ฐานะทางบ้านขัดสน ส่วนใหญ่จะบวชแต่อายุยังน้อย และเรียนทางโลกควบคู่กันไปด้วย
6. บวชเพราะอยากบวช เพราะเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาธรรมวินัย เพื่อความหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิด อันนี้หาได้ยากที่สุด แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง
หรืออาจจะมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่ทำให้คนอยากบวช แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจะได้ในการ บวช ย่อมนำพาชีวิตของเราให้ดีขึ้น หรือย่างน้อยในช่วงเวลาที่บวชก็อาจจะทำให้เราได้ปล่อยวาง มีเวลาได้คิดทบทวนเรื่องราวในอดีต และนำไปเป็นข้อคิดในการดำรงชีวิตต่อไป
อย่างไรก็ตามในการบวช ขอให้บวชใน ที่ เวลา และวัดที่สอนอย่างถูกต้อง เหมาะสม ตามพระวินัย ตามหลักพุทธศาสนาพอสึกออกมาจะได้มีอะไรติดตัวออกมาบ้าง ยศ ตำแหน่ง บริวาร ของให้ถอดไว้นอกวัด ไม่ใช่ บวชแล้วไม่ปล่อยวาง การบวชก็จะเสียเปล่า คงเป็นแค่ การบวช การเมือง เท่านั้นเอง
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน