ธ.ก.ส. เผยผลการดำเนินงาน ปีบัญชี 65 จ่ายสินเชื่อสู่ภาคชนบทกว่า 8.7 แสนล้าน เดินหน้านำนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างมาตรฐานสากล ตั้งเป้าปี 66 ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 3.5 หมื่นล้าน
นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานปีบัญชี 2565 (1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปี จำนวน 878,338 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,636,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 30,509 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.90
ยอดเงินฝากสะสม 1,829,549 ล้านบาท มีจำนวน 2,262,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.15 หนี้สินรวม2,109,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.08 และส่วนของเจ้าของ 153,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 และมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,989 ล้านบาท
ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 0.36 อัตราตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ร้อยละ 5.38 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 7.68 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.63 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
สำหรับปีบัญชี 2566 (1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างวินัยทางการเงินและการออมเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนการแปรรูปและอุตสาหกรรมการเกษตร เน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรไปสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกร
รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มในการให้บริการแบบครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัล ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการผลิต การเชื่อมโยงห่วงโซ่ธุรกิจภาคการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตร ได้ตรงกับความต้องการตลาดอย่างแท้จริง
โดย ธ.ก.ส. วางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 35,000 ล้านบาท เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 12,000 ล้านบาท และ NPLs/Loan อยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 6.70 ด้านการยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ BCG Model
ได้แก่ การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การยกระดับการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero Waste) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ (New Gen) ทายาทเกษตรกร และ Smart Farmer เข้าทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การยกระดับและต่อยอด SMEs วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรสู่การเป็นเกษตรหัวขบวน
การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การจับคู่ธุรกิจ การร่วมลงทุน(Venture Capital) กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยสนับสนุนและต่อยอดธุรกิจการเกษตร หรือเป็น หัวขบวนที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างเกษตรมูลค่าสูง
การสนับสนุนและยกระดับชุมชนที่มีความพร้อมไปสู่ชุมชนอุดมสุขที่มีความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายผ่านโครงการ 1 University 1 Community (1U1C) ในการเติมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง