ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
สสว. ร่วมกับ สอวช. และ BEDO ขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ
02 พ.ค. 2566

สสว. ร่วมกับ สอวช. และ BEDO จัดสัมมนาแนะแนวทางทำธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วย BCG Economy พร้อมเผยแพร่ทิศทางการขับเคลื่อน BCG ไทยสู่สากล อนาคตเศรษฐกิจชีวภาพ และมุมมองจาก ผปก. ต้นแบบ ทั้ง SCG ลำปาง ปตท.สผ. สิงห์เอสเตท ในการยกระดับธุรกิจด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ หวังจุดประกายแนวคิดให้ SME ด้าน BCG เกือบ 5 แสนราย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกลไกร่วมขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ BCG สร้าง GDP เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาทในปี 2570

 นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สอวช. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) จัดงานสัมมนา “ปรับแนวคิดเพื่อเปลี่ยนโลก: ยกระดับ SME ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ” ในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน และแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงโอกาสในเศรษฐกิจชีวภาพ

 ทั้งนี้ เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-economy ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของไทยด้วย Bio-Circular-Green Economic Model (BCG) และ สอวช. มีบทบาทภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสม ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ SME ในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG ด้วยฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น และมีการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ สามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสร้างมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2570 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย

 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินธุรกิจของนานาประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสหรืออุปสรรคในการทำธุรกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการ SME ไทยกว่า 3.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.5 ของวิสาหกิจทั้งประเทศ ยังมีการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวไม่แพร่หลายนัก สสว. ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริม SME ของประเทศ ภายใต้แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) จึงกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้ SME ปรับตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ BCG Economy เพื่อยกระดับและเพิ่มโอกาสที่จะเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก ลดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 จากฐานข้อมูลของ สสว. พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่เกี่ยวข้องกับ BCG โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่มีจำนวนผู้ประกอบการ SME มากที่สุด ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เภสัชภัณฑ์หรือยาชีวภาพ และกลุ่มพลังงานชีวภาพ ฯลฯ มีจำนวนรวม 469,767 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของจำนวน SME ทั้งประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,809,338 คน มีมูลค่าการส่งออก 559,328 คิดเป็นร้อยละ 52.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมของ SME และมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม (GDP SME) 569,824 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของ GDP SME

 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ภายใต้แผนปฏิบัติการของ สสว. ในปี 2566 มีการส่งเสริม SME กลุ่ม BCG โดยร่วมกับ สอวช. ดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการนำ BCG ไปปรับใช้ พัฒนาเครื่องมือวัด (BCG Indicator) และเกณฑ์ที่เหมาะสมกับ SME ขณะเดียวกัน สสว. ยังมีเครื่องมือสนับสนุน SME ไม่ว่าจะเป็น มาตรการ SME ปังตังได้คืน หรือโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบบ SME One ID ฯลฯ

 นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เปิดเผยว่า การดำเนินงานของภาคธุรกิจในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ภาคธุรกิจยังต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนข้อกำหนดของมาตรฐานต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ เบโด้ เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนานวัตกรรม เครื่องมือ กลไก เพื่อนำไปสู่เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

 BEDO ได้พัฒนาเครื่องมือการตรวจประเมินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business & Biodiversity Check) ในการประเมินผลกระทบในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้ง 9 ประเด็น ที่อาจส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาคธุรกิจนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และประกอบการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของบริษัท เช่น ESG (Environmental, Social, Governance) การจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ตามแนวทาง GRI (Global Reporting Initiative) ดัชนีหลักทรัพย์ DJSI (Dow Jones Sustainability Index)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...