ที่ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดนิทรรศการ “เส้นทางผ้าคราม สานสายใย วิถีคนไทยในอีสาน” โครงการอนุรักษ์และส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนผลิตภัณฑ์จากครามเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีครามวิถีผู้ไท โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงส์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมชมการแสดงเดินแบบแฟชั่นผ้าคราม เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ การสาธิตการย้อมคราม และชมผลิตภัณฑ์จากชุมชนในจังหวัดมหาสารคาม สกลนคร และนครพนม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ สาลี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องคราม ซึ่งเป็นราชาแห่งสีย้อมธรรมชาติ และประชาสัมพันธ์เส้นทางของผ้าครามในจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน
ทั้งนี้ ครามเป็นพืชที่รู้จักกันทั่วโลก มานานมากกว่า 6,000 ปี จนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งสีย้อม” ผู้คนทั่วไปรู้จักกันดีในผลิตภัณฑ์กางเกงยีนส์ ซึ่งใช้ครามในการย้อมสี ครามธรรมชาติเป็นที่นิยมอย่างมากและมีความต้องการสูง จึงได้มีการคิดค้นสีครามเคมีสังเคราะห์และสีสังเคราะห์อื่นๆ ได้สำเร็จ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม สินค้าได้กระจายไปตามเส้นทางสายเครื่องเทศหรือทางยุโรป และเส้นทางสายไหมทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 มาถึงปัจจุบัน และครามธรรมชาติได้หายไปจากวิถีชีวิตของคนพื้นบ้านนานกว่า 200 ปี สาเหตุเกิดจากกระบวนการย้อมครามที่มีหลายขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายประการ และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน จึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะฟื้นฟูการใช้ครามจากธรรมชาติให้เข้ามาสู่ผลิตภัณฑ์ของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงพัฒนาการเป็นเส้นทางท่องเที่ยวของวิถีครามอีกด้วย
การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ จึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ วิธีการขั้นตอน และเทคนิคของการผลิตครามเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีผลงานจากกลุ่มเป้าหมายที่ทางโครงการ ได้เข้าไปช่วยเหลือในการอบรมให้ความรู้ ได้แก่ กลุ่มทอผ้าครามบ้านนาสีนวน และกลุ่มทอผ้าครามบ้านโนนสะแบง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายกลุ่มทอผ้าย้อมครามจากหลายจังหวัด อาทิ สกลนคร นครพนม ได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากครามมาจัดแสดงภายในงาน และรับชมการเดินแบบแฟชั่นผ้าคราม โดยมีคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาเดินแบบในนิทรรศการนี้