นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (กอญ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ภายใน 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง กอญ. มีแผนเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานของ ทอท. วงเงินรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในเดือน ก.ย. 66 จะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) และกลางปี 67 จะเปิดบริการทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะทำให้ ทสภ. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 92 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) จากเดิมประมาณ 64 เที่ยวบินต่อ ชม.
นายกีรติ กล่าวต่อว่า เมื่อเปิด SAT1 จะช่วยลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร และผู้โดยสารระหว่างประเทศจะไม่ต้องนั่งรถโดยสารจากอาคารผู้โดยสารไปขึ้นเครื่อง (Bus Gate) อีกต่อไป โดย SAT1 จะมีสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่มขึ้นจากเดิม 51 เป็น 79 สะพานฯ ขณะที่รันเวย์ที่ 3 เมื่อเปิดใช้บริการ เครื่องบินจะไม่ต้องบินวนบนน่านฟ้า เพื่อรอลงจอดที่ ทสภ. เพราะรันเวย์เต็ม อย่างไรก็ตามปลายปี 66 ทอท. มีแผนเปิดประกวดราคา(ประมูล) โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทสภ. วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท และปลายปีนี้ หรือต้นปี 67 จะเริ่มผลักดันโครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายฯ ด้านทิศตะวันตก (West Expansion) ทสภ. วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะทำให้ ทสภ. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 90 ล้านคนต่อปี
ขณะที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) คาดว่าประมาณปลายปี 67 จะเปิดประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ ทดม. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 30-40 ล้านคนต่อปี เป็นประมาณ 50 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เป็นอาคารระหว่างประเทศ พื้นที่ประมาณ 1.5 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) และปรับปรุงอาคารระหว่างประเทศเดิมเป็นอาคารภายในประเทศ ทำให้พื้นที่อาคารภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.2 แสน ตร.ม. เป็น 2.4 แสน ตร.ม.
นายกีรติ กล่าวอีกว่า ส่วนท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ขณะนี้ผู้โดยสารเกินปี 62 ไป 120% แล้ว จึงต้องเร่งเพิ่มพื้นที่ภายในประเทศ และรื้อย้ายสำนักงานที่อยู่ภายในอาคารผู้โดยสารที่ไม่จำเป็นออกบางส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับผู้โดยสาร ขณะเดียวกันได้เร่งรัดงานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ เพื่อลดความแออัดในช่วง 1-3 ปีนี้ได้สำหรับระยะยาวจะดำเนินโครงการขยาย ทชม. ระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 71 จะทำให้ ทชม. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) จะดำเนินโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ วงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้เพิ่มจาก 6 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี คาดว่าเปิดประมูลปลายปี 67 เปิดบริการปี 71 ส่วนท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) เริ่มแออัดบางเวลา จะบริหารจัดการตารางบินให้ดีขึ้น และปรับพื้นที่ภายใน ซึ่ง ทหญ. และทชร. ยังรองรับผู้โดยสารได้ ปัจจุบันเป็นท่าอากาศยานที่ยังขาดทุน ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนขนาดใหญ่
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 4 ปีนี้พร้อมพัฒนาขยายท่าอากาศยานของ ทอท. เพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้มากขึ้น ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะมาจากพรรคการเมืองใด สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะทุกพรรคต้องการให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ขอเพียงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พิจารณาอนุมัติโครงการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้กระแสเงินของ ทอท. เริ่มดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องกู้ และคาดว่าภายในปี 67 จะมีรายได้เป็นบวกอย่างสมบูรณ์ และมีเงินเพียงพอในการลงทุนโครงการต่างๆ.