นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังลงพื้นที่ประชุมติดตามผลการดำเนินงานเขตพญาไท ตามนโยบายผู้ว่าฯสัญจร ว่า เขตพญาไทมีประชากรประมาณ 60,000 คน มีคลองหลักคือคลองสามเสน คลองบางซื่อ มีถนนหลักคือ ถนนพหลโยธิน ประกอบกับ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพระราม6 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนประดิพัทธ์ และทางรถไฟ ทั้งนี้ มีปัญหาน้ำท่วมที่ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณหน้ากองพันที่ 1 ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวง แต่สำนักการระบายน้ำ กทม.ดูแลมาตลอด และยังมีน้ำท่วมที่ถนนสุทธิสารวินิจฉัยบางจุด ซึ่งสำนักการระบายน้ำประเมินแล้วว่า ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้น ซึ่งมีการขุดลอกท่อระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร อีกเรื่องคือปัญหาไฟส่องสว่างซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,021 ดวง ชำรุดหลายร้อยดวง ยังเหลือที่ยังไม่ได้แก้ไขประมาณ 60 ดวง โดยกำหนดแก้ไขแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ เขตพญาไทมีโรงเรียน 1 แห่ง คือ โรงเรียนวัดไผ่ตัน ซึ่งอยู่ในแผนโครงการติดตั้งห้องคอมพิวเตอร์แล็บทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. รวมถึงการปรับคุณภาพอาหารโรงเรียนโดยการเพิ่มสลัดบาร์ให้นักเรียนอาทิตย์ละ 3 วัน และการคืนครูให้นักเรียน โดยการจ้างฝ่ายธุรการมาทำหน้าที่โดยตรง เพื่อให้ครูสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อของกทม. นอกจากนี้ เขตพญาไทมีศูนย์สาธารณสุข 1 แห่ง ปัญหาที่พบคือ ยังขาดบุคลากร 27 อัตรา ปัจจุบันแก้ไขโดยปรับให้มีการสอบคัดเลือกถี่ขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ เนื่องจาก แต่เดิมเคยเก็บภาษีรูปแบบโรงเรือน โดยคิดจากรายได้กิจการ 12.5% ซึ่งสำนักงานเขตเป็นผู้เก็บ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดรายได้ตามมูลค่าที่ดิน และการประเมินอาคาร ซึ่งแต่เดิม เขตพญาไทเก็บภาษีโรงเรือนได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เขตพญาไทเก็บภาษีได้เพียง 200 ล้านบาท ทั้งนี้ เป้าหมายการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (รายได้มากจ่ายภาษีมาก) แต่ปัจจุบันพบว่ามีบางมิติไม่เป็นตามประสงค์ทั้งหมด เช่น ในปี 2562 ห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งในเขตพญาไทจ่ายภาษีโรงเรือน 10,760,000 บาท ขณะเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษี ปัจจุบันเหลือเพียง 1,080,000 บาท เนื่องจาก การเก็บภาษีรูปแบบเดิมคำนวณจากรายได้ผลประกอบการ 12.5% เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงคำนวณจากมูลค่าที่ดินและสภาพอาคารเป็นหลัก ทำให้รายได้จากการเก็บภาษีของเขตพญาไทหายไปประมาณ 10 เท่า ยิ่งอาคารเก่ายิ่งมีค่าเสื่อมมาก ทำให้ภาษีลดลงตามลำดับ
กรณีอาคารสำนักงานใหญ่ในพื้นที่เขตพญาไทเช่นเดียวกัน เคยเก็บภาษีโรงเรือนได้ 11,490,000 บาท ปัจจุบันเหลือ3,720,000 บาท หรือ หอพัก ห้องเช่า แห่งหนึ่ง เคยเก็บภาษีได้ 4,357,000 บาท ปัจจุบันเก็บได้ 76,845 บาทเนื่องจากเจ้าของผู้ให้เช่าย้ายชื่อตนเองมาอยู่ในหอพัก ในนามที่อยู่อาศัย จึงทำให้เสียภาษีน้อยลงจากเดิมมาก จึงขอฝากรัฐบาลใหม่ช่วยทบทวนแนวทางการเก็บภาษีดังกล่าว ว่ามีผลกระทบแค่ไหน อย่างไร สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลระบุว่า เขตเมืองมีการเก็บภาษีได้น้อยลง ขณะที่เขตชานเมืองมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีที่ดินแปลงเล็กหลายแปลงจากประชาชนที่ไปอยู่อาศัย ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากการประเมิน ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวไม่มีรายได้ เช่น ที่ดินเปล่าจากมรดก แต่เดิมไม่ต้องเสียภาษีเพราะเป็นภาษีโรงเรือนไม่สร้างรายได้ แต่ปัจจุบันต้องเสียทุกคนเพราะเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงขอฝากรัฐบาลช่วยทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง รวมถึง เรื่องเงินที่รัฐบาลลดภาษีที่ดินประมาณ 85% และล่าสุดปีนี้ลดอีก 15% ซึ่งเป็นนโยบายนำเงินจากหน่วยงานภาคท้องถิ่นไปช่วยประชาชน ดังนั้น หากรัฐนำเงินส่วนดังกล่าวมาคืน จะช่วยให้ กทม.หรือส่วนท้องถิ่นสามารถมีเงินไปพัฒนาด้านอื่นเพิ่มเติมได้