นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนและรับมือกับการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) บวกกับปัจจัยของความผันผวนด้านราคาพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอน แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 725,000 คัน ภายในปี 2573
จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาสถานประกอบการ ผู้ประกอบการ บุคลากร และแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ดังนั้นปี 2566 ดีพร้อมจึงได้ดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ พัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือข่ายดีพร้อม
โดยการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้นำรถยนต์ราชการที่มีสภาพเก่าเครื่องยนต์สันดาปภายในจำนวน 2 คัน ได้แก่ รถมินิบัสและรถตู้ ที่ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมสูง ใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปล่อยก๊าซเรือนกระจก PM 2.5 และไอเสีย มาดัดแปลงเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน เปลี่ยนต้นกำลังจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า
นอกจากการนำต้นแบบรถยนต์ราชการไฟฟ้าดัดแปลง มาใช้ในการปฏิบัติราชการแล้วนั้น ยังสามารถใช้เป็นรถสวัสดิการรับส่งให้กับเจ้าหน้าที่ พนักงาน และบุคลากรในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถใช้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะก่อให้เกิดการสร้างอาชีพในการดัดแปลงและการซ่อมบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้น เบื้องต้นกำหนดเปิดตัวเดือน มิ.ย. 2566 นี้ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 100 ล้านบาท
ขณะที่การสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือข่ายดีพร้อม จะร่วมกับสมาคมไทยซัพคอน ประมาณ 400 กว่าราย ให้ปรับตัวไปผลิตชิ้นส่วนป้อนอีวี เบื้องต้นดีพร้อมได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้เจรจาความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างไทยกับเกาหลีผ่านทางสถาบันยานยนต์ของไทย กับสถาบันยานยนต์เกาหลี โดยมีการเอ็มโอยูร่วมกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนด้านรถยนต์ไฟฟ้าให้กับบริษัทในไทย รวมทั้งมีการเจรจาให้สถาบันยานยนต์เกาหลี ดึงบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของเกาหลีมาลงทุนในไทย โดยเสนอสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี