เอไอเอส บิสซิเนส ลุยบริการ ดิจิทัล-ไอซีทีโซลูชั่น หนุนเอสเอ็มอี เชื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เปิดตัวแพลตฟอร์มกลางเป็นพื้นที่เชื่อมลูกค้าบีทูบี-บีทูซี หลังเข้าถึงผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับสภาอุตฯกว่า 15,000 ราย
เอไอเอส บิสซิเนส ลุยบริการ ดิจิทัล-ไอซีทีโซลูชั่น หนุน เอสเอ็มอี หลังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เปิดตัวแพลตฟอร์มกลางเป็นพื้นที่เชื่อมลูกค้าบีทูบี-บีทูซี หลังเข้าถึงผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับสภาอุตฯกว่า 15,000 ราย เชื่อช่วยสร้างพลังดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง-อีคอมเมิร์ซ ให้ลูกค้าองค์กรในการทำ Digital Transformation
ล่าสุดยังคงเดินหน้านำศักยภาพความแข็งแกร่งมาติดปีกให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เครื่องมือทางการตลาด บริการด้านไอที โซลูชันบนโครงข่ายอัจฉริยะ ทั้งยังจับมือกับพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เดินหน้าสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจแบบร่วมกัน หรือ ECOSYSTEM ECONOMY ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) เชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry Collaboration) รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับการดำเนินธุรกิจ
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า หนึ่งในเซ็กเตอร์ของภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ คือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 3.18 ล้านราย ได้กลายเป็นหนึ่งในสัดส่วนหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการจ้างงานกว่า 1.26 ล้านตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนถึง 34.2% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถให้กับการดำเนินธุรกิจผ่านการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีเครื่องมือในการสร้างโอกาสและการเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุดเอไอเอสได้บริการใหม่ล่าสุด “Yellow B2B2C e-marketplace” โดยความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถต่อยอดธุรกิจทั้งเชิง บีทูบี และบีทูซี แบบครบวงจร เพิ่มช่องทางให้ผู้ซื้อทั้งรายใหญ่และรายเล็กได้ง่ายยิ่งขึ้น
โดยผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าและบริการได้ง่ายๆ หรือโพสต์สร้างความต้องการสินค้าหรือบริการ (RFQ Marketplace) เพื่อให้ผู้ขายติดต่อเสนอราคาได้ทันที ผู้ขายยังสามารถเจรจาธุรกิจไปจนถึงปิดการขายได้ผ่านช่องแชท อีกทั้งยังมีเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ตลอดเวลา
“ความสะดวกของแพลตฟอร์มนี้จะเปิดทางให้ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย เข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น สามารถติดต่อขอใบเสนอราคา ไปจนถึงการเจรจาธุรกิจ ปิดการขายผ่านระบบแชท ที่จะเปิดให้สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมได้รับข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติม ทั้งนี้ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมฯ มีผู้ประกอบการกว่า 1.5 หมื่นราย โดยในจำนวนนี้กว่า 90% เป็นผู้ประกอบการทำให้เชื่อว่าการให้บริการแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงตลาดที่มากขึ้น”
เขา กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ต้องการ อาทิ เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เสริมศักยภาพ เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน สามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน ขยายช่องทางการขาย หรือแม้กระทั่งการขยายฐานลูกค้าและการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ
ดังนั้น เอไอเอส บิสซิเนส ที่เข้าใจถึงความต้องการดังกล่าว จึงขอเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนการเติบโตให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ บริการโทรศัพท์เพื่อการสื่อสาร บริการอินเทอร์เน็ตเครื่องมือด้านการตลาดออนไลน์ พัฒนาระบบไอทีหลังบ้าน งานบริการแบบอี-เซอร์วิสที่อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคล นอกจากนี้ ยังเน้นการสนับสนุน 4 อุตสาหกรรมหลักเอสเอ็มอีได้แก่ การค้า, การผลิต, บริการ, ดิจิทัล/เทคโนโลยี