สสว. และ วว. ร่วมหารือ COSMED หนุนศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผนึกพลังสร้างสัมพันธ์เครือข่ายนานาชาติ หนุนเสริม SME ไทย นำคณะหารือกับ COSMED องค์กรระดับชาติ หนึ่งในเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต นำสู่การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยต่อไป
คณะผู้เดินทางเมื่อเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงาน และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ร่วมด้วย
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ และ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ โดยมี Ms.Caroline BASSONI, the Director of COSMED และMs Stéphanie MIRATON, the Export International and Events นำทีมงานร่วมให้การต้อนรับคณะจากประเทศไทยอย่างอบอุ่น
ในการประชุม Ms.Caroline BASSONI, the Director of COSMED เปิดเผยว่า COSMED เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น เป็นสถาบันอบรมครูฝึก ตรวจสอบและติดตามเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ เชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายให้กับภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท หรือแนะนำแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้านเครื่องสำอาง ปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส และบางประเทศในยุโรป แบ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 เป็นผู้ประกอบการ Intermediate Size Enterprise: ISE ประกอบด้วยผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์จำนวน 725 ราย และเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ (Supplier) และที่ปรึกษาอีก 291 ราย จากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
Ms.Caroline กล่าวต่อไปว่า COSMED มีบทบาทในการพัฒนาและแสดงความเห็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องสำอาง รวมถึงทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในทุกระดับ ระดับประเทศ : เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดับภูมิภาคยุโรป : เช่น SME United for Cosmetics โดย COSMED ยังเป็นตัวแทนในสหภาพยุโรป (EU Commission) เพื่อแลกเปลี่ยนและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย แนวทางปฏิบัติในฐานะผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย สำหรับการทำงาน ระดับนานาชาติ : ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านเครื่องสำอางในหลายภาคส่วน ทั้งประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ และล่าสุดกำลังขยายเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านมาตรฐานและการรับรอง (Standardization or the certification) อาทิ AFNOR (a French Standard), CEN (a European Standard), ISO (International Standard)
สำหรับแนวการปฏิบัติและเครื่องมือในการดำเนินงานของ COSMED มีการใช้กลยุทธ์และการดำเนินงานหลายรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ ดังนี้ เครื่องมือด้านระเบียบปฏิบัติ : จัดคู่มือต่างๆ ที่เหมาะสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจ สถาบันอบรม : สามารถจัดคอร์สอบรมทุกรูปแบบ พร้อมปรับหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของแต่ละองค์กร รายการหลักสูตรอบรม : เช่น ด้านระเบียบปฏิบัติ จุลชีวภาพ (Microbiology) การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco design) นวัตกรรม (Innovation) รายการอ้างอิง : จัดทำขึ้นจากรายนามบริษัทเครื่องสำอางในประเทศฝรั่งเศส และหนังสือให้ความรู้ (Information Book) COSMED TV : ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ในแพลตฟอร์มยูทูบ เผยแพร่เนื้อหาที่น่าสนใจรายสัปดาห์
จากนั้น คณะจากประเทศไทยได้แนะนำการดำเนินงานขององค์กร เริ่มจาก รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) กล่าวว่า “สสว. เป็นหน่วยงานภาครัฐของไทยที่มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในหลากหลายมิติ เช่น นโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย การเข้าถึงแหล่งทุน การจับคู่ทางธุรกิจ การสร้างเครือข่าย การอบรมและให้คำแนะนำ ซึ่งมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นจำนวนมากในประเทศไทยที่ต้องการพัฒนา สร้างความเติบโตให้กับธุรกิจของตน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ตรงตามความต้องการของตลาด”
ผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สสว.พบว่าผู้ประกอบการไทยมีความสนใจในเทคโนโลยีด้านการสกัดสารเป็นจำนวนมาก รวมถึงต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนมายังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป จึงต้องการที่จะทราบถึง เกี่ยวกับด้านมาตรฐานที่กำหนด ใบอนุญาตหรือใบรับรองต่างๆ รวมถึงการควบคุมคุณภาพ
ขณะที่ ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทย ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในหลากหลายสาขา ซึ่งในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง วว.ได้มีการจัดทำหลายโครงการตามความต้องการของผู้ประกอบการ มีสาขาหลักๆ ได้แก่ การสกัด และควบคุมคุณภาพ ในหลากหลายภูมิภาคของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการในการพัฒนาชาหมัก (Fermented Tea) และสมุนไพรท้องถิ่นที่มีกลิ่นหอม แต่ยังคงต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมที่จะใช้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ จังหวัดน่าน ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการสกัดสารจากดอกไม้ โดยใช้เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethanol) ตัวอย่างเช่น การสกัดสารจากบัวสาย พบว่าเมื่อสกัดออกมาแล้วกลิ่นจะจางหายไปในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น จึงต้องการเทคโนโลยีเมื่อสกัดสารออกมาแล้วสามารถรักษากลิ่นได้ยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกี่ยวกับมะพร้าว ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการทำหน้ากากอนามัยและใช้แล้วทิ้ง (Disposable Facemask)
“ทั้งนี้ทุกผลิตภัณฑ์ในโครงการต่างๆ ข้างต้น ได้รับการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง และผู้ประกอบการก็มีความต้องการที่จะขยายตลาดไปในประเทศยุโรป จึงจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานตามแนวทางของ EU การตรวจสอบและรับรองในสหภาพยุโรปและในประเทศฝรั่งเศส และการเพิ่มศักยภาพเพื่อขยายโอกาสในการส่งออกมายังผู้บริโภคในทวีปยุโรป”
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้ร่วมหารือ ถึงการอบรมผู้ประกอบการเครื่องสำอางในประเทศไทย โดย สสว. จะสรุปประเด็นที่ต้องการ เพื่อให้ COSMED สามารถออกแบบหลักสูตรการอบรมให้กับผู้ประกอบการไทยต่อไป