กยท. แจง อียู พอใจ ผลข้อมูลการจัดการพื้นที่ป่ายาง ดีเกินคาด ขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้กว่า 90 % พร้อมเข้าตลาดยุโรป ได้ตามกฎหมาย EUDR
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผย ภายหลังการเข้าพบอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม ว่าได้หารือถึงแนวทางการบริหารจัดการป่าของไทย ซึ่งในส่วนของสวนยางพาราต้องการให้ผ่านมาตรฐานรับรองจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ตามแนวทางFSC เพื่อที่จะสามารถส่งออกไม้ยางในตลาดสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ และเป็นไปตามกฎหมาย EUDR
ทั้งนี้ในการหารือ ไทยได้แจ้งถึงสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบันมีทิศทางที่ดีขึ้น จากผลการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าชุมชน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น
ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กำหนดแผนและแนวทางในการสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป ด้วยการการจัดประชุมวิชาการ การศึกษาดูงาน การพัฒนาศักยภาพสำหรับหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความต้องการที่จำเป็น และการสร้างความร่วมมืออื่น ๆ เช่น การจัดทำระบบเฝ้าระวังเพื่อประเมินผลกระทบทางกฎหมายEUDRและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบูรณาการโครงการและกฎหมายอื่นๆ ร่วมกัน เป็นต้น
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีนโยบายในการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้และกระบวนการทางกฎหมายในการตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่ดิน เช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกฎข้อบังคับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าและการติดตามแหล่งที่มาของผลิตผลทางการเกษตรภายใต้การดำเนินงานของEUDRจึงมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้มาก
โดยจากการหารือครั้งนี้ ผู้แทนจากยุโรปมีความมั่นใจและชื่นชมการจัดการข้อมูลยางพาราของไทยสำหรับรองรับกฎหมายดังกล่าวว่าทำได้ดีเกินที่คาดการณ์ไว้มาก จากการที่ กยท. ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการยางไว้ในระบบข้อมูลของ กยท. ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางไทย กว่า 90% ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. แล้ว โดยสามารถแสดงประเภทเอกสารทางกฎหมาย ระบุพื้นที่ตั้งของสวนยางได้
ซึ่ง กยท. ได้สำรวจและจัดทำแผนที่พิกัดแปลงเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ตั้งของแปลงที่ไม่บุกรุกป่า เทียบกับแผนที่ป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ประเทศไทย และGlobal Forest Watchนอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนประเมินการจัดการความเสี่ยงภายใต้โครงการ “Rubber Way”เพื่อประเมินและสร้างแผนที่ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)