ที่บ้านหนองบึง หมู่ที่ 4 ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนางสาวพันสี คุณธรรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายหาญ ศรีหาวงษ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่เยี่ยมชมครัวเรือนต้นแบบที่ยืมเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ไปประกอบอาชีพแล้วประสบผลสำเร็จ ในพื้นที่อำเภอวังยาง รายครัวเรือนนางดลตรี แก้วมะ บ้านเลขที่ 154 บ้านหนองบึง หมู่ที่ 4 ตำบลยอดชาด ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพต่อยอดการเลี้ยงสุกรขุน จำนวนเงิน 5,000 บาท และเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 85,333 บาท/ปี ครัวเรือนนายวิชัย แสนสุริวงค์ บ้านเลขที่ 205 บ้านหนองบึง หมู่ที่ 4 ตำบลยอดชาด ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพต่อยอดการเลี้ยงโคขุน-โคแม่พันธุ์ จำนวนเงิน 5,000 บาท เลี้ยงกบในกระชัง เลี้ยงปลาปลูกต้นกล้วย ต้นมะม่วง ฝรั่ง ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 86,000 บาท/ปี และนางสาววาสนา แสนสุริวงค์ บ้านเลขที่ 27 บ้านหนองบึง หมู่ที่ 4 ตำบลยอดชาด ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพต่อยอดการเลี้ยงกบ จำนวนเงิน 5,000 บาท ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 80,000 บาท/ปี
นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม ได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจครัวเรือนที่ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพจากเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวในชุมชนอย่างยั่งยืน ในการนี้ นายมนตรี จารุธำรง นายอำเภอวังยาง พร้อมด้วยนายชัยพร ศศินราเศรษฐ์ พัฒนาการอำเภอวังยาง เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ตลอดจน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้การสนับสนุนข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ความยากจนของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกรัฐบาลมุ่งแก้ไขให้หมดไป โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินงานโครงการ กข.คจ. ระยะที่ 1 ระหว่าง ปี 2536-2539 และขยายถึงปี 2540 จำนวน 11,608 หมู่บ้าน และมีมติอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินงานโครงการ กข.คจ. ระยะที่ 2 ระหว่าง ปี 2541-2544 เพื่อขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศที่ยังมีคนจนตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จำนวน 28,038 หมู่บ้าน ซึ่งโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เป็นการสนับสนุนเงินทุนให้ระดับหมู่บ้านแล้วมอบอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบให้องค์กรประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้บริหารจัดการเงินทุนให้หมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้านตลอดไป เป็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนเป้าหมาย หมู่บ้านละ 280,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย และมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินงานโครงการ กข.คจ. ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2553