“จุฬา” ชี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินยังไม่ได้ถึงขั้นตอนแก้สัญญา แต่เปิดทางให้ระบุเงื่อนไขเหตุสุดวิสัยในสัญญา ชี้ทำทุกอย่างตามขั้นตอน รับโครงการล่าช้าไปประมาณ 1 ปี ชี้เอกชนจ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงก์ให้รัฐปีนี้รวม 3 งวด วงเงินกว่า 3 พันล้านบาทกำหนดจ่ายเดือน ต.ค.นี้
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้แถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง - อู่ตะเภา) เนื่องจากรัฐบาลในขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการและมีความเป็นห่วงว่าโครงการจะซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์ว่าในส่วนความคืบหน้าของโครงการนี้ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนของการแก้ไขสัญญาโครงการที่ภาครัฐได้ทำร่วมกับเอกชน โดยส่วนที่มีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบเป็นการเยียวยาปัญหาให้กับภาคเอกชนในส่วนของการบริหารโครงการรถไฟแอร์พอร์ตเรลล์ลิงก์ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง
โดยคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) ได้พิจารณาว่าแนวทางการผ่อนชำระค่าสิทธิ์ในการบริหารแอร์พอร์ตเรลล์ลิงก์ออกเป็น 7 งวดทำให้เอกชนสามารถบริหารงานและจ่ายค่าสิทธิ์ในการบริหารให้กับภาครัฐได้ โดยภาครัฐได้รับผลตอบแทนเท่าเดิมส่วนภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นภาคเอกชนจะเป็นคนรับไปซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาในภาพรวมของโครงการแต่อย่างใด
สำหรับ เงื่อนไขการจ่ายเงินให้กับภาครัฐเอกชนมีกำหนดต้องจ่ายเงินแต่ละงวดภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี โดยการชำระเงินในปีนี้เอกชนผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินรวม 3 งวดเนื่องจากสัญญาการบริหารแอร์พอร์ตเรลล์ลิงก์มีผลตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
โดยตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ 10,671.09 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค. ของแต่ละปี
ซี่งในวันที่ 24 ต.ค.ของปีนี้เอกชนจะต้องชำระเงินรวม 3 งวด รวม 3,201.33 ล้านบาท
นายจุฬากล่าวต่อว่าในส่วนของการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เหลือของโครงการขณะนี้ทุกฝ่ายทราบในหลักการว่าจะต้องมีการแก้ไขโดยระบุถ้อยคำที่เป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย
เนื่องจากโครงการนี้เป็นสัญญาร่วมทุนระยะยาว 50 ปี อาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือมีความเสี่ยงที่เป็นเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นซึ่งจะต้องมีการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
“ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนของการแก้สัญญา เพียงแต่มีการนำเอามติของ กพอ.ในการเยียวยาเอกชนที่ไม่สามารถให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ได้ในช่วงโควิด ส่วนเรื่องในอนาคตก็เห็นตรงกันว่าต้องมีการเพิ่มข้อความเรื่องของเหตุสุดวิสัยซึ่งขั้นตอนตรงนี้จะต้องทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดทั้งการนำร่างสัญญาให้สำนักงานฯกฤษฎีกาพิจารณา จากนั้นเข้าบอร์ดพีพีพี จากนั้นเข้าสู่บอร์ด กพอ. และ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป”นายจุฬา กล่าว
เมื่อถามว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะล่าช้าหรือไม่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง นายจุฬากล่าวว่าขณะนี้คาดว่าโครงการจะล่าช้าไปประมาณ 1 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ไปเป็น 2571 เนื่องจากขณะนี้เอกชนยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเนื่องจากยังไม่ครบเงื่อนไขที่จะเริ่มการก่อสร้าง 100% โดยเอกชนระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสืออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
“โครงการไฮสปีดเทรนปกติใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี หากเริ่มสร้างในปี 2567 ก็คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2571 ทำให้การเปิดให้บริการได้ช่วงประมาณปี 2571”นายจุฬากล่าว