ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
พาณิชย์’ เตรียมจับมือ SME BANK ให้สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นับเป็นธุรกิจแรกที่ใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อ
11 ส.ค. 2560

            กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจับมือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ให้สินเชื่อแก่ผู้สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นับเป็นธุรกิจแรกที่ใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้ นำร่องปล่อยกู้ให้แฟรนไชส์ต้นแบบที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ที่มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท คาดปีแรกจะสามารถคัดเลือกแฟรนไชส์ที่จะให้สินเชื่อได้ราว 15 - 20 ราย พร้อมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่แวดวงธุรกิจไทยมากขึ้น

            นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้กิจการที่ได้ซื้อแฟรนไชส์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแฟรนไชส์นับเป็นธุรกิจแรกที่จะใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558”

“เบื้องต้น SME BANK จะกำหนดมาตรการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ และมีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยประเมินว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาท มักจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมาก ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์เองก็เป็นธุรกิจที่มีความสะดวกและง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญคือมีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ทั้งนี้ คาดว่าปีแรกนี้จะสามารถคัดเลือกแฟรนไชส์ที่จะให้สินเชื่อได้ราว 15 - 20 ราย

 “หลังจากการให้สินเชื่อแล้ว SME BANK จะทำการติดตามประเมินผลและทำการวิเคราะห์เป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐานสากล มีศักยภาพ และมีความเข้มแข็ง โดยการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ทางธุรกิจ รวมทั้งช่วยขยายเครือข่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้ได้มีโอกาสพบปะกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจ และนำไปสู่การสร้างรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีความมั่นคงพร้อมแข่งขันในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อไปมีพี่เลี้ยงคอยดูแลในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท SME BANK จะดำเนินการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ในระยะถัดไป หลังจากที่ได้สรุปและประมวลผลการให้สินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะช่วยสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่แวดวงธุรกิจไทยมากขึ้น

 พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ ได้แก่ 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง 3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ผลิตสินค้า 4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5) ทรัพย์สินทางปัญญา

 ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2560 มีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 149,349 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 2,800,545 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60.05 (มูลค่า 1,681,855 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ คิดเป็นร้อยละ 19.53 (มูลค่า 546,995 ล้านบาท) และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็นร้อยละ 17.20 (มูลค่า 481,611 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.07 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า หลักทรัพย์ที่เป็นกิจการยังไม่เคยมีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเลย ดังนั้น หาก SME BANK ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นธุรกิจแรกที่ใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...