ความหวังสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่กลางลานท่าเรือบาลีฮายเมืองพัทยาพบใช้ได้เพียงไม่กี่ปีก็ปล่อยพัง ล่าสุดสั่งทาสีใหม่กลบพื้นที่เดิมหลังนักท่องเที่ยวประสบเหตุบ่อยครั้ง ขณะที่สังคมตั้งคำถามควรมีการตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณในการลงทุนหรือไม่
จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้จัดระเบียบท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว และทวงคืนพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นการปรับสภาพภูมิทัศน์เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ ในเดือน พ.ย.ปี 2560 ซึ่งผู้บริหารสภาเมืองพัทยาในขณะนั้นได้อนุมัติงบประมาณกว่า 95 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอาคารและพื้นที่ของท่าเทียบเรือใหม่
นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับภูมิทัศน์โดยรอบในเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ภายใต้งบประมาณกว่า 81 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการ “ลานน้ำพุเต้นระบำ” ที่ออกแบบจัดสร้างไว้เพื่อสร้างสีสันและแลนด์มาร์กใหม่ทางการท่องเที่ยวของเมืองพัทยารวมอยู่ด้วย โดยโครงการนี้ขณะถูกก่อสร้างมีคำชี้แจงว่าเป็นโครงการสร้างสีสรรค์ด้านการท่องเที่ยวด้วยการโชว์น้ำพุที่เต้นระบำพร้อมด้วยแสงและเสียงประกอบที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยระบบนี้จะเป็นการทำงานของระบบปั๊มน้ำไฮโดรลิคใต้ฐานลานน้ำพุ ที่มีบ่อบรรจุน้ำขนาด 50-60 ลบ.ม. รวมทั้งไฟส่องสว่างแบบ LED ที่จะส่งน้ำพ่นออกทางปลายท่อที่จัดเรียงไว้ตามจังหวะของแสงและเสียงของดนตรี แต่ก็พบว่าหลังก่อสร้างไม่นานก็มีการชำรุดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเมืองพัทยาไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลและซ่อมแซมระบบดังกล่าว จึงจำเป็นต้องประสานผู้รับจ้างที่มีความเชี่ยวชาญให้เข้ามาซ่อมแซมให้ แต่สุดท้ายเมื่อหมดสัญญารับประกัน เมืองพัทยาก็ไม่ได้เปิดใช้ประโยชน์แต่อย่างใด โดยจะมีแค่ในในช่วง 1-2 ปีแรกเท่านั้นหลังสร้างเสร็จใหม่ๆที่จะมีการเปิดใช้งานบ้าง ปิดบ้าง ชำรุดบ้าง ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งให้ผุพังไปแบบถาวร ทำลายความฝันที่วาดไว้อย่างสวยหรูว่าจะทำให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองพัทยา ซึ่งสุดท้ายโครง การนี้ก็ถูกผู้คนหลงลืมไป
กระทั่งปัจจุบันพบว่ามีการปรับพื้นที่ลานท่าเรือบาลีฮายใหม่ให้เป็นลานเอนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนใช้งานทั้งการจอดรถและกิจกรรมสันทนาการ ขณะที่ล่าสุดพบว่าเมืองพัทยาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำสีมาทาทับพื้นที่ของลานน้ำพุไว้เพื่อให้มีความแตกต่างกับสีของพื้นที่ทั้งหมดของท่าเรือ ด้วยพบว่าที่ผ่านมามักจะมีนักท่องเที่ยวสะดุดหรือหกล้มบ่อยครั้งจากแนวยกระดับเป็นวงกว้างของลานน้ำพุที่สูงกว่าลานท่าเรือประมาณ 10 ซม. จึงเป็นเหตุให้โครงการอย่าง “น้ำพุเต้นระบำ” ต้องถูกหลงลืมไปจากความทรงจำ รวมไปถึงงบประมาณที่ได้อุดหนุนลงไปจัดทำด้วยจำนวนนับแสนนับล้านบาท และนี่ก็ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ถูกใช้งานเพียงไม่นานแต่ไร้การบำรุงรักษาดูแล และสุดท้ายก็ต้องถูกปล่อยทิ้งร้างไว้หรือปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา จนผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ตั้งคำถามในใจว่าถึงเวลาที่ควรจะมีการตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณในการลงทุนกันบ้างหรือยัง...