5 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย สกสว., บพข., สนช., สยย. และ EVAT ร่วมลงนามเอ็มโอยู ยกระดับ “สตาร์ทอัป-เอสเอ็มอีไทย” เปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์สมัยใหม่ หนุนงบวิจัยสร้าง R&D ให้พึ่งพาตัวเองและแข่งขันได้ในอนาคต
วันที่ 6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.), สถาบันยานยนต์ (สยย.) และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไทยให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการบพข. คุณวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สนช. ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการ สยย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา รังสิโยภาส เลขาธิการ EVAT ผู้บริหารบริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ
นายพงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันกำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน ที่มีจุดแข็งในเรื่อง Supply Chain ของชิ้นส่วนยานยนต์ และความชำนาญในการผลิต จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว เพื่อก้าวข้ามการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ สามารถพึ่งพาตนเอง และแข่งขันในตลาดโลกได้มั่นคงและยั่งยืน
“ในนามของ สกสว. และหน่วยงานภาคีอีกทั้ง 4 หน่วยงาน จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ Startup และ SME เร่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้สามารถเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้ในตลาดอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป”
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลก เนื่องด้วยไทยมีตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการตั้งโรงงานผลิต สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศโดยการส่งออกได้สะดวก จากข้อตกลงระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement: FTA) และนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์
รวมทั้งในด้านอุปทาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่ยาว มีอุตสาหกรรมที่สนับสนุนจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานที่มีฝีมือ การกำหนดนโยบายรัฐอย่างมีทิศทาง ช่วยส่งเสริมผู้ผลิตยานยนต์จากทุกประเทศได้อย่างเสมอภาค
“ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายในและภาย หลายประการอาทิ การมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก”
ดังนั้น ด้วยความท้าทายดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้ความเข้มแข็งต่อยอดสิ่งใหม่ๆ จากการทำวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วม