สกสว. จับมือ บพข. สนช. สยย. และ EVAT ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มุ่งสริมสร้างความร่วมมือ สนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อให้เกิดกิจกรรมในการขับเคลื่อนการยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. คุณวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สนช. ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการ สยย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา รังสิโยภาส เลขาธิการ EVAT ผู้บริหารบริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันกำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน ที่มีจุดแข็งในเรื่อง Supply Chain ของชิ้นส่วนยานยนต์ และความชำนาญในการผลิต จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว เพื่อก้าวข้ามการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ สามารถพึ่งพาตนเอง และแข่งขันในตลาดโลกได้มั่นคงและยั่งยืน
“ในนามของ สกสว. และหน่วยงานภาคีอีกทั้ง 4 หน่วยงาน จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ Startup และ SME เร่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้สามารถเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้ในตลาดอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป” รศ. ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการและเลชานุการร่วมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานในประเทศ โดยในปี ค.ศ.2022 ไทยผลิตรถยนต์ 1.88 ล้านคัน มากเป็นอันอันดับ 10 ของโลก แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 0.85 ล้านคัน ส่งออก 1.00 ล้านคัน โดยคาดว่าในปี ค.ศ. 2023 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการตลาดในประเทศ 0.90 ล้านคัน ส่งออก 1.05 ล้านคัน ซึ่งการผลิตยานยนต์ในประเทศไทย เริ่มต้นจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สู่การเป็นฐานการผลิตที่ส่งออกไปทั่วโลก ด้วยการมี Product champion ที่ตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย ขณะที่ปัจุบัน ให้ความสำคัญกับการผลิตยานยนต์ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เริ่มต้นจากการส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล นำมาสู่การส่งเสริมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) กำหนดเป็นเป้าหมายผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ร้อยละ 30 ในปี ค.ศ.2030
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐายการผลิตยานยนต์ของโลก เนื่องด้วยประเทศไทยมีตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการตั้งโรงงานผลิต สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศโดยการส่งออกได้สะดวก จากข้อตกลงระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement: FTA) และนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในด้านอุปทาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่ยาว มีอุตสาหกรรมที่สนับสนุนจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานที่มีฝีมือ การกำหนดนโยบายรัฐอย่างมีทิศทาง ช่วยส่งเสริมผู้ผลิตยานยนต์จากทุกประเทศได้อย่างเสมอภาค แม้ว่าไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายในและภาย หลายประการ อาทิ การมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
ดังนั้น ด้วยความท้าทายดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้ความเข้มแข็งต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ จากการทำวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมมือพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไปได้ในอนาคต