นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา อีอีซี ได้เดินทางไปจัดกิจกรรมพบปะนักลงทุน หรือโรดโชว์ ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส พร้อมด้วย นางเจอดจันทน์ อรุณรัตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายส่งเสริมการลงทุน) สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงปารีส ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ผู้แทนจากภาคเอกชนไทย เช่น บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (EA) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้เข้าพบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานฝรั่งเศส ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมกว่า 20 ราย เพื่อให้ข้อมูลศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือถึงโอกาสความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญ สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอันเป็นที่ต้องการของพื้นที่ อีอีซี
ทั้งนี้ อีอีซีได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญด้านการลงทุนจากฝรั่งเศส เช่น สมาพันธ์นายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ (MEDEF International) Business France ร่วมพบปะกับผู้บริหารระดับสูงจากฝรั่งเศส ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ จากบริษัทชั้นนำกว่า 7 แห่ง อาทิ บริษัท Safran, Thales, GIFAS, Satys Aerospace, Volocopter, VoltAero เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน จากบริษัท Total Energies กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จากตลาดนานาชาติ Rungis บริหารโดยบริษัท Semmaris อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เน้นในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากบริษัท Renault และบริษัทด้านเทคโนโลยี Dassault Systemes ซึ่งทุกบริษัทได้แสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีของประเทศไทย
โดย อีอีซี ได้นำเสนอข้อมูลและโอกาสการลงทุนในพื้นที่ ทั้งด้านสิทธิประโยชน์สำคัญ เพื่อจูงใจนักลงทุนจากฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการกำหนดสิทธิประโยชน์เฉพาะแต่ละคลัสเตอร์ พร้อมชูจุดเด่นในพื้นที่อีอีซี นอกเหนือจากความสะดวกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง ที่รองรับการคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทาง บก เรือ อากาศ ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งได้ทั่วโลกที่จะนำพาการลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี อีกทั้งได้สร้างระบบเชื่อมโยงทางธุรกิจ (ecosystem) และเตรียมการพัฒนาทักษะบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากนักลงทุนฝรั่งเศส
นอกจากนี้ คณะ ฯ ยังได้เข้าร่วมงาน Paris Airshow 2023 ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ระดับโลกด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศจากทั่วโลก โดยได้มีการรับทราบถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริด อากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (eVTOL) เป็นต้น โดย อีอีซี ได้ใช้โอกาสนี้เป็นเวทีพบปะและหารือร่วมกับภาคเอกชนด้านอากาศยานชั้นนำจากประเทศต่างๆ โดยมีหลายบริษัทได้ให้ความสนใจจะขยายการลงทุนมายังประเทศไทย และสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีด้วย
สำหรับประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยลำดับที่ 9 มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี (2561- 2565) รวม 15,406.51 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ยานยนต์ และอากาศยาน โดยประเทศฝรั่งเศส ได้ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ Low Carbon Strategy สู่ประเทศในอาเซียน และพร้อมจะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมด้านอากาศยาน